ทวี สุรฤทธิกุล
ถ้าจะติดตามการเมืองไทย จงใส่ใจที่แก่น และไม่ควรสนใจที่กระพี้
น่าเห็นใจสื่อมวลชนในทุกวันนี้ ที่ต้อง “ขายข่าว” ตามกระแสของสังคม เมื่อสังคมต้องการข่าวสีสันและหวือหวา แบบว่าตื่นเต้นน่าสนใจ โดยไม่ต้องคิดมากกว่าจะได้สาระอะไรหรือไม่ หรือจะเกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ ขอให้มีคนเข้ามาดูเข้ามาอ่านมาก ๆ สร้างยอดแชร์ ยอดไลค์ ให้เยอะ ๆ ก็เป็นอันใช้ได้ อย่างกรณีความเคลื่อนไหวของนักการเมืองในสภาและพรรคการเมืองบางพรรค สื่อก็ให้ความสนใจแต่ว่า ส.ส.คนโน้นคนนนี้ ส.ว.คนโน้นคนนี้ จะทำอะไรโฉ่งฉ่าง กร่างกล้า บ้าเบ่ง สร้างอารมณ์ออกมาอย่างไรบ้าง ทั้งที่ถ้าหากจะมองด้วย “คุณค่า” หรือ “ราคา” ของนักการเมืองคนนั้น อาจจะไม่มีอะไรเลย
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ที่สังคมไทยยอมรับว่าท่านเป็น “พหูสูต” และ “ปรอทวัดอุณหภูมิทางการเมือง” เคยให้ข้อคิดถึงการมองการเมืองไทยไว้ว่า “จงสนใจที่แก่น และไม่ควรสนใจที่กระพี้” เริ่มจากการมองภาพสังคมให้กว้าง ๆ เสียก่อน ว่าในสังคมอย่างสังคมไทยนี้มีอะไรเป็นแกนหลักของบ้านเมือง ซึ่งก็คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จากนั้นก็มองลงไปในสังคมย่อยแต่ละส่วน อย่างในกรณีของการมองการเมืองก็ต้องมองไปที่สถาบันสำคัญ ๆ ของระบบการเมืองไทย ซึ่งถ้าจะว่าตามโครงสร้างในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องประกอบด้วย รัฐสภา รัฐบาล และศาล แต่ถ้าจะว่าตามวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทย เราก็ยังให้ความสำคัญกับพระมหากษัตริย์มาเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยทหารและระบบราชการ ส่วนพรรคการเมืองกับประชาชนนั้นยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ทั้งที่สองสถาบันนี้ควรจะเป็นสถาบันหลักในการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่สุดคือการมองไปที่ระบบย่อย เช่น ถ้าจะมองรัฐสภา ก็ต้องแยกแยะว่า “ใครสำคัญ หรือไม่สำคัญ” แล้วก็ติดตามพฤติกรมหรือความเคลื่อนไหวของคนเหล่านั้นเป็นหลัก เราก็จะเข้าใจและทราบความเป็นไปของการเมืองไทยได้อย่างชัดเจน รวมถึง “ความแม่นยำ” ในการทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคตนั้นด้วย
ถ้าจะมองการเมืองไทยในขณะนี้ตามทฤษฎีของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ในภาพกว้างเราก็จะยังมองเห็นว่า ทหารกับพระมหากษัตริย์ยังอยู่ในส่วนบนของการเมืองไทย ทหารนั้นยังคงมีอำนาจควบคุมการเมืองไทยไว้ได้ทั้งระบบ ในขณะที่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงเป็นสถาบันที่ผู้ใดจะลบหลู่ดูหมิ่นไม่ได้ ส่วนสถาบันที่อ่อนแอมาก ๆ ก็ยังคงเป็นพรรคการเมืองและภาคประชาชน ที่ถึงแม้ว่าในภาคประชาชนจะมีการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังขาดพลังในการล้มล้างที่เปิดเผย รวมถึงเป้าหมายและแกนนำที่กระจัดกระจาย ในขณะที่พรรคการเมืองก็เป็นแค่ “ตัวประกอบ” ที่ทหารนำมาประกอบให้ระบอบทหารที่เป็นอยู่นี้ดูดี และมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ “ราคา” ของพรรคการเมืองนั้นแทบจะเป็น 0 โดยเชื่อกันว่าทหารนั่นเองที่ต้องการให้พรรคการเมืองมีสภาพเป็นแบบนั้น เพื่อให้ผู้คนยังคงชื่นชมทหาร ในขณะที่เบื่อหน่ายเกลียดชังนักการเมือง ที่จะทำให้ทหารนี้ได้ครองอำนาจด้วยความเชื่อใจจากประชาชนนั้นต่อไป
เหตุการณ์ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล้าปลดร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ด้วยวาทะก่อนหน้านั้นว่า “ผมสามารถทำได้แต่เพียงผู้เดียว” ย่อมแสดงให้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์นี่แหละคือ “แกนอำนาจ” ที่ใหญ่ที่สุด ในขณะที่บางคนบอกว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ละมั๊ง เพราะไม่เห็นใครจะทำอะไรแกได้ แม้แต่นายกรัฐมนตรียังต้องเกรงใจ ตามไปประคับประคองขึ้นลงรถในทุกการประชุม แถมยังให้เป็นรองนายกฯที่ยังคงมีอำนาจในอีก 4 กรมของกระทรวงเกษตรฯ ที่ทำเอารองนายกฯจุรินทร์ได้แต่มองตาปริบ ๆ เหมือนพลเอกประยุทธ์ยังต้องปลอบขวัญพี่ใหญ่ด้วยตุ๊กตาหมีกระนั้น แต่นั่นแหละก็ยิ่งทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่า พลเอกประยุทธ์นั้น “ใหญ่” แค่ไหน ในขณะที่นักการเมืองคนอื่น ๆ รวมถึงพลเอกประวิตร ก็ยังเป็นแค่ “ของเล่น” ของพลเอกประยุทธ์เท่านั้น
ดังนั้นถ้าหากจะแยกแยะ “ราคา” หรือความสำคัญของนักการเมืองต่อไป เมื่อเราจัดพลเอกประยุทธ์ว่าเป็น “แกน” ของการเมืองไทย คนในระดับรองก็จะจัดเป็นนักการเมืองในระดับ “ก้อน” คือเป็นที่รวมกลุ่มกันของนักการเมืองเพื่อกิจกรรมเฉพาะกิจเท่านั้น เช่น หัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็คือพวกก้อนเหล่านี้ ที่เริ่มแรกก็แค่ให้นักเลือกตั้งได้มารวมกันลงสมัครรับเลือกตั้ง พอเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้ามาแล้วก็มารวมก้อนกันจัดตั้งรัฐบาล และเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องพยุงกันไปให้เป็นกลุ่มก้อน แบบที่เรียกว่า “ถูลู่ถูกัง” พากันไปให้รอดให้ได้ ซึ่งในพรรการเมืองเหล่านี้ก็จะมีนักการเมืองหลายประเภท แต่ในที่นี้ผู้เขียนอยากแยกแยะออกเป็นสัก 2 ประเภท คือ พวก “เกล็ด” กับพวก “กระพี้” พวกเกล็ดนั้นก็คือ ส.ส.ที่พยายามสร้างตัวเองให้โดดเด่น สร้างอัตลักษณ์ให้กับตนเอง เช่น ชอบพูดหรือทำอะไรบ้า ๆ เพื่อให้เป็นข่าว แต่ข่าวนั่นแหละที่ทำให้ ส.ส.คนนั้นได้เกิดเป็นเกล็ด พอให้คนเห็นอยู่บ้าง ส่วนพวกกระพี้ ก็คือ ส.ส.ที่ไม่ได้สนใจที่จะมีบทบาทอะไรมากนัก หรือถ้าจะมีก็แค่ร่วมกระแสและทำตามแบบที่คนอื่น ๆ เขาทำกัน ชีวิตของนักการเมืองแบบนี้จึงไม่มีคุณค่าอะไรเลย คนพวกนี้มีให้เห็นอยู่มากในวุฒิสภา ที่เข้ามานั่ง ๆ นอน ๆ รับเงินภาษีประชาชน แต่ทำได้แค่ยกมือตามที่ผู้มีอำนาจจะสั่งเท่านั้น จึงยิ่งแย่กว่า ส.ส.เสียอีก ที่อย่างน้อยก็ยังได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน ที่ประชาชนอาจจะลงโทษโดยไม่เลือกเข้ามาอีกได้ แต่บรรดา ส.ว.ลากตั้งเหล่านั้น ประชาชนไปทำอะไรไม่ได้เลย ในขณะที่ผู้มีอำนาจก็ไม่สนใจที่จะไปปรับปรุงคุณภาพของคนเหล่านี้ เพราะยังต้องมีไว้ใช้เป็นไม้ค้ำอำนาจ เพื่อที่จะร่วมกันเสวยสุขในอำนาจนั้นให้นานเท่านาน
สุภาษิตที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” นั้นน่าจะไม่เป็นจริงในทางการเมืองไทย เพราะมีความเชื่อกันว่าในทางการเมืองไทย(และในสังคมไทย) “ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร” นั้นมากกว่า