ทองแถม นาถจำนง ผีมด , ผีเม็ง เป็นชื่อเค้าผีบรรพบุรุษของคนสองกลุ่มหรือสองโคตรในภาคเหนือ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช สรุปว่า “ผีเม็ง” คือผีบรรพบุรุษของคนเชื้อสายมอญ “ผีมด” คือผีบรรพบุรุษของคนเชื้อสาย “คนเมือง” เรื่องนี้ท่านพูดไว้ในงานอภิปรายรายงานวิจัยเรื่อง “ประเพณีการทรงผีเจ้านายและบทบาททางสังคม : กรณีศึกษาในเชียงใหม่” อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เป็นผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ แล้วนำเสนอในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย กรกฎาคม 2526 “ผีมดีเม็งนี้เป็นผีบรรพบุรุษนะครับ คนในภาคพายัพนี่แบ่งกันได้เป็นสองตระกูลหือสองเชื้อสายเรียกว่าผี ผีแปลว่าตระกูลก็ได้ ถามได้เลยใครเป็นผีอะไร ถ้าเป็นผีเม็งก็บอกว่าผีเม็ง ผีมดก็บอกว่าผีมด แล้วถึงปีนี่เวลาเทศกาลก็มีการเซ่นผี เข่าเรียกว่าเซ่นผี คนที่เป็นผีมดก็ฟ้อนผีมด หรือไปเซ่นบรรพบุรุษที่เรียกว่าผีมด คนที่เป็นผีเม็งก็ไปฟ้อนผีไปทำการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่เรียกว่าผีเม็ง คำว่าผีใดนั้นผมเข้าใจว่าเป็นการสืบเชื้อสายมาจากคนไทยที่เรียกว่าคนเมือง ส่วนคำว่าเม็งแปลว่ามอญ ผีเม็งคือมีบรรพบุรุษเชื้อสายมาจากมอญ ซึ่งในประวัติศาสตร์นั้นในสมัยสร้างกรุงหริภุญไชยคือเมืองลำพูนนั้น มอญเข้ามามีอิทธิพลมากแล้ว วัฒนธรรมตลอดจนศิลปสถาปัตยกรรมก็เป็นแบบทวาราวดีคือมอญทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็ยังสืบเชื้อสายกันลงมาก็เป็นคนไทยหมดแล้วแต่ว่ายังแบ่งกันเป็นผีมดหรือผีเม็ง ถือกันคล้าย ๆ กับเป็นแซ่ของคน ส่วนพิธีกรรมนั้นผิดกัน เวลาฟ้อนผีมดนั้นต้องปลูกกระโจมใหญ่แล้วมีผ้า จะเป็นผ้าขาวม้าหรือผ้าแพรอะไรก็ได้สีต่าง ๆ ห้อยลงมา ลูกหลานถ้าต้องการโหน ผีเข้าก็ไปโหนผ้าที่ผูก ผีเข้าก็ออกฟ้อน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แล้วเมื่อฟ้อนก็มีผิอยู่ในมือคนละผืน ถ้าเป็นผู้ชายเห็นสาว ๆ ก็เอาผ้าไปคล้องคอ ผีเข้าสาวอีกก็มาฟ้อนด้วยกัน ถ้าเป็นผู้หญิงเห็นผู้ชายหล่อ ๆ ก็เอาผ้าไปคล้องคอผู้ชายอีก ผีเข้าผู้ชายก็มาฟ้อนด้วยกัน ถ้าต้องการให้ผีออกก็ไปโหนผ้านั้น ผีก็ออก ส่วนผีเม็งนั้นฟ้อนกลางแจ้ง มีการตั้งเครื่องเซ่นกลางแจ้ง ผมเข้าใจว่าภาพส่วนใหญ่ (หมายถึงไสลด์ที่ฉายในการสัมมนา) เป็นการฟ้อนผีเม็ง และที่ว่าเป็นมอญนั้นเห็นได้ชัดเพราะธรรมเนียมในการฟ้อนทุกครั้งที่มีการฟ้อนผีเม็ง หรือการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่อยู่ในตระกูลเม็งหรือเป็นมอญนั้น ตอนท้ายปิดรายการด้วยการรำดาบ รายการรำดาบในการเซ่นสรวงบรรพบุรุษนั้นแม้แต่คนที่มีเชื้อชาติมอญแถวเมืองปทุม ปากเกร็ด พระประแดง ถ้าเขาจบพิธี ก็ด้วยการรำดาบ จนกระทั่งมีเพลงไทยเรียกว่าเพลงมอญรำดาบนั่นแหละครับ เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องของมอญแน่สำหรับผีเม็ง แล้วก็ผีเม็งหรือทั้งสองผีนั่นแหละจะต้องมีคนผู้หลักผู้ใหญ่ในละแวกบ้านที่เรียกว่าต้นผี คือเป็นหน้าที่ที่จะต้องบูชาเซ่นสรวง เป็นผู้ที่ติดต่อกับบรรพบุรุษได้ แล้วก็จะมีการทำพิธี ก็ใช้ผู้ใหญ่นี่เป็นผู้กระทำพิธี ส่วนการเข้าผี ผีเข้านั้นไม่ใช่เข้าแต่ผู้ใหญ่คนเดียว ซึ่งอาจจะไม่เข้าเลย เข้าลูกหลานทุกคน ใครก็ได้ที่เข้าไปนั่งอยู่นั้น การแสดงอาการว่าผีเข้าก็คือการออกไปฟ้อนออกไปรำ ครั้งหนึ่งสมัยผมอยู่ลำปาง มีโรงเรียนของมิชชันนารี โรงเรียนวิชานารี โรงเรียนสตรีสอนศาสนาคริสต์ ก็มีชาวเมืองไปเรียนมาก เด็กผู้หญิงไปเรียนมาก ถึงเทศกาลฟ้อนผีก็มีเสียงดนตรีดังใกล้ ๆ โรงเรียน ขณะนั้นนักเรียนกำลังสอบ นั่นสอบกันไปสอบกันมา เกิดผีเข้าทั้งชั้น ร้อนออกจากห้องไปฟ้อนผีคือผลทางมันมาครับ อันนี้ผมก็ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ก็คงจะเป็นผีเม็งอีกล่ะ (บรรยายภาพไสด์) ผีมด ถ่ายรูปไม่ค่อยจะติดหรอกครับ เพราะทำในที่ค่อนข้างจะมืด ต้องเข้าไปถ่ายในกระโจม ถ้าผีเม็งทำกันลางแจ้งก็ทำได้สะดวกในการถ่ายภาพสีน่ะครับ ที่มืด ๆ นี่แหละอาจจะเป็นผีมด ฟ้อนดาบก็เป็นผีเม็ง มอญรำดาบน่ะครับ นี่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาวิจัยกันต่อไป เพราะการเข้าผีแบบนี้เป็นการเข้าผีที่เป็นประเพณีดั่งเดิมของภาคเหนือ มีมาช้านานมาก และก็เป็นเรื่องความผูกพันทางสายโลหิต” ปราชญ์ล้านนา อาจารย์ มณี พะยอมยงค์ อธิบายเรื่องฟ้อนผีมด ผีเม็ง ว่า “การฟ้อนผีมด – ผีเม็ง คือ การฟ้อนรำเพื่อเป็นการสังเวย หรือแก้บนผีของบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือนับถือกัน แต่ในปัจจุบันได้เลือนหายไปมากแล้ว ยังมีปฏิบัติกันอยู่บ้างในชนบทของล้านนาไทย ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ สันนิษฐานว่า เป็นประเพณีมาจากมอญ เพราะสังเกตได้จากการแต่งตัวในเวลาเข้าทรงจะเป็นแบบการแต่งตัวของพวกมอญ โบราณ และพวกมอญนี้เองที่คนไทยทางภาคเหนือหรือล้านนาเรียกว่า เม็ง และฟ้อนผีมดผีเม็งนี้เป็นการสังเวยบรรพบุรุษ ซึ่งจะจัดอยู่ในวงศาคณาญาติ หรือที่เรียกว่าตระกูลเดียวกัน ในวันครบรอบปี หรือบางครั้งก็รอบ 2 ปี 3 ปี แล้วแต่จะสะดวก แต่บางทีพี่น้องหรือญาติ ๆ กัน เกิดมีการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็จะมีการบนบานสารกล่าว ถ้าหายจากการเจ็บป่วยแล้วก็ทำการแก้บน คือฟ้อนแก้บนนั่นเอง การจัดนั้นทางผู้ที่เป็นเจ้าภาพ ก็จะทำหน้าที่เลี้ยงดูหมู่แขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ส่วนมากก็เป็นญาติ ๆ และเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน เริ่มต้นด้วยการทำปะรำหรือทางภาษาล้านนาเรียกว่า “ผาม” ขึ้นกลางลานบ้าน เจ้าภาพก็จะจัดเครื่องสังเวยเป็นต้นว่า หมู, ไก่, เหล้า, ข้าวต้ม, ขนมน้ำอ้อย, พานข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียนต่าง ๆ ในปะรำต้องมีราวสำหรับพาด ผ้าโสร่ง ผ้าพันหัว ผ้าพาดบ่า สำหรับใส่ทับในเวลาฟ้อน และการฟ้อนก็จะมีดนตรีประกอบเครื่องดนตรีก็เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองเป็น ส่วนมาก เช่น กลอง ระนาด แน ฉิ่ง ฆ้องวง ฯลฯ เมื่อได้เวลาแล้วก็จะจุดธูปเทียนที่หน้าหอผี ซึ่งปลูกไว้ในบ้านเป็นลักษณะคล้ายศาลเพียงตา ปลูกไว้ให้เป็นที่อยู่ของผี สตรีที่มีอาวุโสในบ้านนั้นจะนำทำพิธีขอเชิญผีมาเข้าทรง มีการขอให้ผีที่มาเข้าทรงนั้นปกปักรักษาลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อผีเข้าทรงแล้วก็จะมีการไต่ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน คนทรงก็จะเรียกลูกหลานว่า “เหลนน้อย” และมีการมัดมือสู่ขวัญลูกหลาน พอสมควรแล้วจะมีการฟ้อน ผู้หญิงจะนำฟ้อนก่อนโดยเอามือไปเกาะที่ผ้าขาวกลางปะรำที่ผูกไว้ โยนตัวไปมาขณะที่ฟ้อนก็จะมีดนตรีประกอบด้วย พวกผู้ชายมักจะมีการฟ้อนดาบ สำหรับเครื่องแต่งตัวนั้นมีผ้าโสร่ง ผ้าพันหัว เสื้อแบบมอญ ผ้าพาดบ่า และอื่นๆ อีก ผีมดและผีเม็งนั้น มีวิธีการทำที่คล้ายคลึงกันอาจจะต่างกันบ้างในรายละเอียดอื่นๆ เช่น บางตำราบอกว่า ผีเม็งจะมีกระบอกปลาร้า เป็นเครื่องสังเวย ชาวบ้านมักจะพูดกันเล่นๆ ติดปากว่า “เมงน้ำฮ้า” หมายถึง พวกมอญชอบปลาร้าและชอบถนอมอาหารด้วยการดองผักต่างๆ ไว้กินนานๆ การฟ้อนนอกจากจะเป็นพิธีรำลึกถึงพระคุณของปู่ ย่า ตา ยายแล้ว ยังสร้างความสามัคคีกลมเกลียวขึ้นในกลุ่มที่นับถือผีด้วยกัน ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามจารีตที่วางไว้โดยเคร่งครัด เช่น ไม่ยอมให้แต่งงานในกลุ่มผีเดียวกัน เป็นต้น ครอบครัวที่นับถือผีมด – ผีเม็ง เขาจะสร้างศาลทางทิศตะวันออกของบ้าน บางบ้านก็นับถือผีมด บางบ้านก็นับถือผีเม็ง ความแตกต่างของทั้งสองผีนั้นอยู่ที่สัญลักษณ์ กล่าวคือ ถ้าเป็นพิธีการฟ้อนผีเม็งจะมีกระบอกใส่ปลาร้า สังเวยผีบรรพบุรุษ แต่ถ้าฟ้อนผีมดจะไม่มี ส่วนกำหนดการและพิธีกรรมต่างๆ ก็ยังเหมือนกันอยู่”