แก้วกานต์ กองโชค “ที่ประชุม คสช.จึงมีความคิดว่า ในขั้นต้นอาจต้องใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหาพรรคการเมือง เพื่อขยายเวลาที่บังคับไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง ฉะนั้นไม่ต้องกังวล ทั้งประชาชน พรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองใหม่ ยังมีโอกาสที่จะดำเนินการทางธุรการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมาชิกพรรคหรือเรื่องอะไรต่างๆ ให้เกิดความเป็นธรรม” คำอธิบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการประชุม คสช. เมื่อวันอังคารที่ 19 ธันวามคม 2560 หัวหน้า คสช.บอกว่า“ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามโรดแมปเดิมที่เขียนไว้ว่า เมื่อไหร่ที่กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผล ก็ต้องเดินไปสู่การเลือกตั้ง และวันนี้ทุกอย่างก็ยังเป็นไปตามขั้นตอนนี้อยู่ แม้จะมีกฎหมายพรรคการเมือง แต่กฎหมายเลือกตั้งยังไม่เสร็จ ยังไงก็ยังเลือกไม่ได้อยู่ดี แต่เราต้องปลดล็อกตรงนี้ให้เขา” เมื่อนักข่าวถามถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคประชารัฐที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ อีกสมัยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “คงต้องไปถามคนพูด ผมไม่ได้พูดสักคำ พรรคทหารคืออะไรผมยังไม่รู้ หลายคนบอกว่าเป็นพรรคแบบเดิมอะไรต่างๆ โดยมีทหาร แต่ผมยังไม่เห็นมีทหารที่ไหนมาตั้งพรรคการเมืองให้กับผม” “ได้ถามนายสมคิดว่าไปตั้งพรรคทหารหรือ นายสมคิดบอกว่าไม่ได้ตั้ง และการจะสนับสนุนให้นายกฯ อยู่ต่อ มันจะอยู่ต่ออย่างไร ผมก็ยังไม่รู้ ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ต่อ-ไม่อยู่ต่อ รัฐธรรมนูญเขียนไว้เรื่องนายกฯ คนนอก ซึ่งยังไปไม่ถึงตรงนั้นเลย” เมื่อถามถึงกระแสข่าวให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรคทหาร เพื่อสนับสนุนให้นายกฯ อยู่ต่อ” พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามการตั้งพรรคการเมืองของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำผู้เตรียมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ได้เสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ทำให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต้องเชิญเข้าไปชี้แจงข้อเสนอ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2560 โดยกระบวนการแก้ไขอาจใช้กระบวนการของ สนช. หรือกระบวนการตามอำนาจตามมาตรา 44 ทั้งนี้ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้ประกาศใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ได้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการต่างๆ ในหลายเรื่องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยไม่มีข้อยกเว้น เช่น ต้องแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกพรรค การจัดทำข้อบังคับพรรค การจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหาร การให้สมาชิกชำระค่าบำรุงพรรค หรือการจัดตั้งสาขาพรรค เป็นต้น หากไม่ดำเนินการจะมีผลทางกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญต่อพรรคการเมือง แต่ประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมใดๆ ทำให้ คสช.ต้องมีมติให้พรรคการเมืองสามารถทำ “ธุรการ” ของตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญบัญญัติระบุไว้ว่า กระบวนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายหลังจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ โดยขณะนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 8 ตุลาคม ดังนั้นยังเหลือเงื่อนไขคือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. นั่นทำให้มีเสียงเรียกร้องให้ “ปลดล็อกพรรคการเมือง” เพื่อให้สามารถดำเนินตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ แต่ก่อนที่จะมีการปลดล็อกดังกล่าว กลับมีข้อเสนอให้ “รีเซ็ต” พรรคการเมือง วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ถึงกับกินดีหมีวิจารณ์ “ลุงกำนัน” ว่า “ทหารบางคนถูกอดีตนักการเมืองหลอกว่าจะนำพรรคที่ตนเคยสังกัดไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ แต่กาลเวลาได้ทำหน้าที่เที่ยงตรงพิสูจน์ให้เห็นว่า ใครยืนหยัดอยู่กับอุดมการณ์ ใครยืนหยัดอยู่กับ คสช. เมื่อยึดพรรคเดิมไม่ได้ก็กล้าแม้กระทั่งรับงานจาก คสช. มาจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ให้ทหาร” “เมื่อยึดพรรคไม่ได้ ก็จะอาศัยอำนาจพิเศษของ คสช. รีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองทั้งหมดทุกพรรค หากทุกคนไม่ได้เป็นสมาชิก กรรมการบริหารพรรคก็จะสิ้นสภาพไปด้วย อดีต ส.ส.ทุกคนจะเป็นอิสระจากพรรค บรรดาลุงๆก็จะไล่ช้อนอดีต ส.ส. ไปสังกัดพรรคทหารไม่แตกต่างอะไรกับแม่น้ำ 5 สายบางคนที่เคยให้คนแอบช้อนปลาคาร์ฟหน้าอาคารรัฐสภาไปเลี้ยงดูเล่นที่บ้าน” “เขาย้ำว่า “ทหารกลุ่มนี้จึงสมคบคิดกับอดีตข้าราชการประจำ เจ้าสัว และนักการเมืองพันธุ์เก่าดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา โดยชูนายสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์ )เป็นหัวหน้าพรรค และ ให้นายสถิตย์ (ลิ่มพงศ์พันธุ์ )เป็นเลขาธิการพรรคโดยมีตัวสำรองเป็นอดีต ส.ส.คนหนึ่ง แล้วเอานโยบาย "ประชารัฐ" ของรัฐบาลมาเป็นชื่อพรรค ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคืออดีตกำนันคนดังของภาคใต้ เพื่อสานต่อภาระกิจในการสนับสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปโดยไม่สนใจสิ่งอื่นใด” นั่นทำให้ “ลุงกำนัน-ลุงตู่” ควันออกหูทีเดียว...ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม ??!!!