บางสำนักคิดทางการเมืองให้ความสำคัญกับการ ข้อมูลเรื่อง “ชนชั้นในสังคม” มาก เนื่องจากเชื่อว่า บทบาทของ “ชนชั้น” ต่าง ๆ ในสังคม จะมีบทบาทสูงในกระบวนการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ปัจจุบันนี้ การให้คำจำกัดความ การวิเคราะห์ชนชั้น ในสังคมไทยยังเป็นเรื่องยากและสับสน โดยทั่ว ไปแล้ว ผู้คนก็มักจะมองอย่างกว้าง ๆ ว่า มีชนชั้นบน ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง แต่เมื่อพิเคราะห์ลงรายละเอียดแล้ว ก็ยังยากที่จะระบุตัวเลขจำนวนคนในชนชั้นต่าง ๆ รวมถึง “บทบาท” ทางสังคม โดยเฉพาะชนชั้นกลางและล่าง เราจะเห็นกันก็แต่ตัวลขจำนวนคนยากจน ที่รัฐกำหนดขอบเขตขึ้นแล้วได้ตัวเลขจากการสมัครใจมาขึ้นทะเบียนตนเองว่าเป็นคนยากจน จะดูตัวเลขชนชั้นกลางจากไหน ? จุดแรกคงดูที่ตัวเลขและข้อมูลผู้เสียภาษีอากร ดู ๆ แล้ว รัฐได้ภาษีจาก “ภาษีรายได้” ของชนชั้นกลางเป็นหลัก ชนชั้นกลางจึงน่าจะมีบทบาททางสังคมมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง สำนักคิดทางการเมืองหลายสำนักเชื่อว่า สังคมประชาธิปไตยที่ดี จะเกิดได้ในสังคมที่มีชนชั้นกลางเป็นพลเมืองส่วนข้างมาก การปฏิรูปประเทศจะเกิดผลได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อคนกลุ่มใหญ่ของประเทศสามารถยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจเป็นชนชั้นกลางได้ เพราะชนชั้นกลางให้ความสำคัญต่อระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง(ไม่ใช่เพียงแค่รูปแบบการเลือกตั้ง) ชนชั้นกลางให้ความสำคัญกับสิทธิ์และเสรีภาพของคนส่วนน้อย ไม่ยอมรับระบบประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่เผด็จการทางรัฐสภา ชนชั้นกลางคิดถึงความยั่งยืนในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ในระยะสั้น และชนชั้นกลางให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองโดยต่อเนื่อง การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้สร้างชนชั้นกลางขึ้นเป็นคนกลุ่มใหม่ที่มีบทบาทมากในสังคม อย่างไรก็ตาม บทบาทของชนชั้นกลางก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านลบก็เช่น ชนชั้นกลางมักสนใจเฉพาะเรื่องของตนเองและครอบครัว มากกว่าเรื่องความเป็นไปของสังคม เน้นการบริโภคที่เกินพอดี ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมืองและสังคม โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นท้าทายผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งอาจจะย้อนกลับมากระทบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและตำแหน่งหน้าที่การงานของตนได้ ด้านบวกก็คือชนชั้นกลางต้องการระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง การเลือกตั้งที่แข่งขันกันอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ให้ความสำคัญกับสิทธิ์และเสรีภาพส่วนตัวสูง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์และเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น การนับถือศาสนา การรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่ตรงไปตรงมา สิทธิ์ที่ใช้ชีวิตในสังคมโดยปราศจากความรุนแรง ตลอดจนสิทธิ์ที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของตน เห็นความสำคัญของเสียงส่วนน้อยที่อาจจะคิดต่าง และให้ความสำคัญกับการแข่งขันภายใต้กติกาที่ชัดเจนเป็นธรรม จะมีบทบาทด้านบวกหรือลบนั้น ชี้ขาดอยู่ที่ความเป็น “ปัจเจก” ของสมาชิกในกลุ่มชนชั้นกลาง สังคมไทยะพพัฒนาไปในทางดี ถ้าชนชั้นกลางแสดงบทบาททางด้านบวกมากขึ้น