ทองแถม นาถจำนง
อ่านทัศนะของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อก่อนนะครับ
“แต่มนุษย์ก็ยังพิเศษกว่าสัตว์อื่นอยู่นั่นเอง แต่พิเศษในข้อนี้ครับ คือในข้อที่ว่ามนุษย์เมื่อรู้จักใช้เครื่องมือ ก็ใช้เครื่องสร้างเครื่องมืออื่น ๆ ต่อไปอีกได้ นี่แหละครับเป็นเหตุที่แตกต่างกัน อย่างลิงนั้นมันต้องการเครื่องมือ มันก็เก็บเอาสิ่งใกล้ตัว เช่น กิ่งไม้ หรือก้อนหิน เอามาทุบมาต่อยอะไรให้แตกเพื่อรับประทานได้ หรือมิฉะนั้นก็ใช้กิ่งไม้ขุดดินหาหัวมัน หารากไม้รับประทาน มันไม่มีการสร้างเครื่องมือ คงหาเครื่องมือจากธรรมชาติมาช่วยแรงตน ส่วนมนุษย์นั้นสร้างเครื่องมือขึ้นโดยอาศัยเครื่องมือนั้นเอง เป็นต้นเอาก้อนหินมาเป็นเครื่องมือ แล้วก็เอาก้อนหินนั้นเองมาต่อยหินอื่นให้กลายเป็นหินมีคมขึ้น เป็นเครื่องมือที่ดีขึ้นไปอีก ตลอดจนมนุษย์เราทุกวันนี้ก็ใช้เครื่องมือหนึ่งเพื่อสร้างเครื่องมืออย่างอื่น ๆ มีเครื่องจักรเครื่องยนต์สำหรับสร้างจอบ สร้างเสียม สร้างรถแทรกเตอร์ เป็นเครื่องมือในการกสิกรรม เมื่อเครื่องมือที่ใช้สร้างเครื่องมือใหม่มันเอาไปใช้ในการกสิกรรมไม่ได้ ก็ต้องใช้เครื่องมือนั้นสร้างเครื่องมือใหม่ต่อไป
มนุษย์เราสามารถสร้างเครื่องมือเพื่อสร้างเครื่องมือเป็นสองชั้นด้วยกัน ซึ่งแตกต่างกับสัตว์อื่น ๆ ภาษาของคนกับภาษาของสัตว์ เขาก็เห็นส่าแตกต่างกันเช่นนี้ คือภาษาคนนั้นทำให้เกิดความเข้าใจก็จริง แต่ว่าใช้ภาษานั้นเองสร้างภาษาให้งอกเงยขึ้นไปอีก ทำให้เกิดความเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นได้อีก แต่สำหรับภาษาสัตว์นั้นมันอยู่ในขั้นต่ำและตรงไปตรงมา
นักวิทยาศ่าสตร์ที่ได้มาประชุมก็ได้เล่าเหตุการณ์ที่ได้ประสบเห็นกันมา ซึ่งผมก็เห็นว่าออกจะน่าสนใจ เป็นต้นว่าลิงชนิดหนึ่งในประเทศอียิปต์ มันมีภาษาหรือเสียงร้องสำหรับเตือนกันได้ในเมื่อพบสัตว์ร้าย เป็นต้นว่าลิงชนิดนั้นตัวใดตัวหนึ่งไปพบงูพิษเข้าในป่าแล้วมันจะร้องขึ้นเสียงหนึ่ง เพื่อตักเตือนฝูงของมันไม่ให้เข้ามาใกล้ และลิงตัวที่เห็นงูนั้น จะคอยสังเกตงูอยู่อย่างใกล้ชิด และส่งเสียงร้องนั้นเรื่อยไป และลิงทั้งฝูงก็จะหลีกเลี่ยงไป เมื่อลิงทั้งฝูงหลีกเลี่ยงไปพ้นแล้ว ลิงตัวที่พบงูและส่งเสียงร้องตักเตือนพวกพ้องจึงจะรีบตามไป และลิงชนิดนั้นเอง ถ้าหากว่าไปพบเสือ หรือไปพบสัตว์ร้ายอื่นที่เป็นภัยอันตรายต่อมัน เช่นนกอินทรีแล้ว มันจะส่งเสียงร้องอีกอย่างหนึ่งให้พวกมันรู้ ก็จะได้หลบหลีกทัน เพราะว่าการหนีงูกับการหลบหลีกนกอินทรีกับการหนีเสือนั้น ต้องใช้วิธีการคนละอย่าง........................... ฉะนั้นเมื่อเจอะนกอินทรี หรือเจอะเสือ มันก็ต้องร้องอีกเสียงหนึ่ง ซึ่งเขาว่ามีหลายพยางค์ และใช้สำเนียงผิดกับเสียงที่เตือนให้รู้ว่ามีงูอยู่ นี้มันก็แสดงให้เห็นว่ามันเกิดเป็นภาษาง่าย ๆ เริ่มต้นขึ้นแล้ว ไม่ใช่ว่าตกใจแล้วร้องเสียงเดียวเท่านั้น คือเจองูร้องเสียงหนึ่ง เจอเสือเจอนกอินทรีร้องอีกเสียงหนึ่ง เพื่อให้พวกพ้องเข้าใจว่ามีอันตรายคนละอย่าง เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าลิงมันก็มีภาษาพูดเหมือนกัน นอกจากภาษาของลิงซึ่งใช้เป็นเสียงแล้ว ลิงยังติดต่อเข้าใจกันได้ด้วยการใช้กิริยาท่าทางหรือด้วยใบหน้า..............
ทีนี้ยังมีปัญหาอยู่นิดเดียวครับว่า ลิงทำไมยังเป็นลิง มนุษย์ทำไมถึงได้เป็นมนุษย์ฉลาดมากมายนัก
เขามีความเห็นว่ามนุษย์เรานั้นมิได้วิ่งสี่เท้าอย่างกับลิง ส่วนใหญ่เราเดินกันด้วยสองเท้า และเหตุที่มนุษย์เดินด้วยสองเท้านั้น ก็เพราะมนุษย์เกิดมามีร่างกายซึ่งแตกต่างกว่าลิงเสียตั้งแต่แรก คือจะทำอะไรไม่ได้หลายอย่างอย่างที่ลิงทำ ปัญหาสำคัญคือไม่สามารถเก็บอาหาร คือลิงนั้นมันเก็บอาหารไว้ในแก้มได้ บางทีมันก็วิ่งเร็ว รับประทานอาหารจากที่นี้แล้วก็วิ่งหาต่อไป ก็ได้อาหารกินพอ แต่มนุษย์เรานั้นเชื่องช้ากว่าลิง เมื่อพบอาหารแล้วรับประทานไม่หมดก็จำเป็นต้องเก็บอาหารติดตัวไป ........ ทางเดียวที่มนุษย์จะเก็บอาหารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อรับประทานต่อไปได้ ก็คือใช้เท้าหน้าทั้งสองนั้นเองเข้าโอบอุ้มยกเอาอาหารนั้นติดตัวไป เท้าหน้าสองเท้าของมนุษย์ก็กลายเป็นมือขึ้นมา
และเมื่อมือมันเกิดขึ้นมาแล้วมนุษย์ก็ทำอะไรอื่น ๆ ได้อีกมากมายหลายอย่างทีเดียว ตลอดจนมีโอกาสที่จะสืบพันธ์ต่อมาได้มากกว่าสัตว์อื่น เพราะว่าเมื่อเดินไปได้ด้วยเพียงสองเท้า ก็เหลือมืออีกสองมือ ก็ทำอะไรได้มากยิ่งขึ้น และการเลี้ยงลูกเต้าก็ทำได้สะดวกแนบเนียนยิ่งกว่าสัตว์ที่ต้องใช้เท้าทั้งสี่เท้า ยี่ก็เป็นเหตุที่มนุษย์เราได้พัฒนาเติบโตมาเป็นมนุษย์ ไม่เป็นเดรฉานต่อไป”
( จากรายการ “เพื่อนนอน” วันที่10 มกราคม พ.ศ 2508 รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “โลกกับคน” )
ในยุคโน้น อธิบายว่า มนุษย์ต่างจากลิงเพราะรูปร่างกายวิภาคและสรีระวิทยา
DNA ของลิงชิมแพนซีกับมนุษย์นั้นเหมือนกันถึง ๙๗ % แต่ลิงที่มิรับการฝึกจากมนุษย์ก็มีปัญญาความสามารถทียบเท่ามนุษย์วัยไม่เกินสามขวบเท่านั้น
แต่คนต่างจากลิงเพราะอะไร นักมานุษยวิทยา ผู้มีชื่อเสียงมากคือ นาย Noam Chomsky ให้ความสำคัญเรื่องภาษามากที่สุด (ทั้งพื้นฐานกายวิภาค “กล่องเสียง” ของมนุษย์ และพัฒนาการทางภาษาที่กระตุ้นสมอง และสร้างพฤติกรรมตามมา)
ตามทฤษฏีของ Noam Chomsky ที่ได้กล่าวไว้ว่ามนุษย์มีกลไลในการรับรู้ทางภาษามาตั้งแต่กำเนิด หรือที่เรียกว่า LAD (Language Acquisition Device) ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ภาษาได้ด้วยความสามารถของตนเอง และเมื่อมีการติดต่อสื่อสารเกิดขึ้น ก็ทำให้มนุษย์ได้แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน สามารถต่อยอดความคิดได้ นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางความคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
ในขณะเดียวกัน สัตว์ยังคงใช้เสียงร้องในการสื่อสารและมีวัฒนธรรมบางอย่างเช่นเดียวกันกับมนุษย์ เช่น วัฒนธรรมจ่าฝูง หรือ ผู้นำ แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากมนุษย์คือสัตว์ไม่มีกฏหมาย ไม่มีศีลธรรม และไม่มีศาสนา.