สมบัติ ภู่กาญจน์
หลังการปฏิวัติโดยประชาชนเป็นผลสำเร็จ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
การเลือกตั้งในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ก็ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2518
26 มกราคม 2518 วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ที่จัดการเลือกตั้งแบบผสมคือมีทั้งรวมเขตและแบ่งเขตร่วมกัน เขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกได้ไม่เกิน 3 คน ในอัตราส่วนราษฎร 150,000คนต่อผู้แทนฯ 1 คน ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 72 คน พรรคธรรมสังคมตามมา 45 คน พรรคชาติไทย 28 คน พรรคเกษตรสังคม 19 คน พรรคกิจสังคม 18 คน พรรคสังคมชาตินิยม 16 คน พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 15 คน พรรคพลังใหม่ 12 คน พรรคแนวร่วมสังคม 10 คน และพรรคอื่นๆที่ได้พรรคละหนึ่งคนอีกเกือบสิบพรรค รวมสมาชิกทั้งสิ้น 269 คน และในวันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ลงนามสนองพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งวุฒิสมาชิกรวม 100 คนด้วยพร้อมกัน
28 มกราคม 2518 สองวันหลังจากการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์เตรียมจัดตั้งรัฐบาลผสม ด้วยการติดต่อพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคเกษตรสังคม และพรรคพลังใหม่ให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคกิจสังคมพรรคเกษตรสังคมยังไม่มีทั้งคำตอบรับหรือปฏิเสธ พรรคพลังใหม่และพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยก็ประกาศแจ้งชัดว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลผสมกับพรรคประชาธิปัตย์
6 กุมภาพันธ์ 2518 สยามรัฐรายวัน ได้นักเขียนเก่าชื่อคึกฤทธิ์ ปราโมช กลับมาเขียนคอลัมน์ในหน้าเดิมของตนอีกครั้ง หลังจากที่วางปากกาหยุดเขียนไปนานกว่าหนึ่งปี
ในข้อเขียนชิ้นแรก ที่เริ่มต้นด้วยข้อความดังต่อไปนี้............
“ ผมตื่นขึ้นมาเช้าวันนี้ แล้วรู้สึกว่า อะไรมันขาดๆไป
ลองนึกต่อไปว่า อะไรมันขาดไปจากชีวิต ก็ตอบตัวเองว่า สิ่งที่ขาดไปนั้น คือการเขียนหนังสือพิมพ์
จึงคิดต่อไปว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอุปสรรคแห่งการเขียนหนังสือพิมพ์ของผมนั้นมันมีอยู่หรือ? ก็ตอบตัวเองว่า แต่ก่อนนั้นมี แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว
ที่ว่าแต่ก่อนนั้นมี ก็เพราะไปเป็นประธานสภานิติบัญญัติ
ซึ่งตำแหน่งนี้ ถ้าจะทำหน้าที่ให้เคร่งครัด ก็จะต้องเรียกว่าเป็นทาสของสภา คือ จะมีความเห็นที่เป็นของตัวเองไม่ได้ หรือไม่ควรจะมี ความเห็นที่เป็นของตัวเองขณะที่ยังมีหน้าที่
หรือถึงจะมี ในขณะที่มีหน้าที่อยู่ ก็ไม่ควรจะแสดงความเห็นให้ปรากฎแก่สาธารณะ ผมก็เลยไม่เขียนหนังสือพิมพ์ แม้ว่าจะทำมานานหลายสิบปี
ต่อมา ไปสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญใหม่
ผมก็คิดด้วยอุดมคติอย่างเชยๆของผมอีกว่า ไม่ควรจะเขียนหนังสือพิมพ์ เพราะจะเป็นการเอาเปรียบคู่แข่งขัน
การคิดอย่างนี้ จะผิดหรือถูก จะควรหรือไม่ควร ผมไม่แน่ใจนัก แต่ผมแน่ใจว่าการสมัครผู้แทนฯในวันนี้นั้น เขามักจะนิยมเอาเปรียบกันให้ได้ในทุกๆทาง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วันนี้ อุปสรรคเหล่านั้นไม่มีแล้ว
ผมเป็นแต่เพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม
ขอให้ท่านผู้อ่าน ได้โปรดถือเอาความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้เป็นกัมมัฏฐานไว้ในระหว่างที่อ่านด้วย
ถ้าอ่านต่อไป เห็นอะไรที่มันเอนเอียง ไม่อยู่กับร่องกับรอยไปบ้าง ก็ขอได้โปรดใช้กัมมัฏฐานนี้ในการพิจารณา..............
หลังจากเกริ่นนำความในใจแล้ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็แสดงความเห็นเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง ว่า ที่ผลออกมาเช่นนี้ ก็เพราะประชาชนยังไม่รู้จักการเมือง หรือการเลือกตั้งตามระบบพรรคดีพอ จึงเลือกผู้แทนด้วยตัวบุคคลตามธรรมชาติที่ตนเองถนัด ผลการเลือกตั้งเช่นนี้จึงปรากฎขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการตำหนิประชาชนหรือการโยนความผิดไปให้แก่ผู้เลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และตนเองก็ไม่เห็นด้วย จึงมีความเห็นว่าการออกกฎหมายโดยคำนึงถึงประชาชนหรือคำนึงถึงผลแห่งการตัดสินใจของประชาชนผู้เลือกตั้งให้มากๆ จะเป็นสิ่งที่พึงทำอย่างยิ่งในการสร้างสรรประชาธิปไตย
7 กุมภาพันธ์ 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย แนวร่วมพิทักษ์ทรัพยากรแห่งประเทศไทย และกลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันชุมนุมที่สนามหลวงเพื่อต่อต้านการทำเหมืองแร่ของบริษัทเทมโก้ที่ภาคใต้ของไทย และในประเด็นการเมืองมีการปราศรัยโจมตีสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์เป็นประธานสภาฯ
8 กุมภาพันธ์ 2518 มีข่าวจอมพลประภาส จารุเสถียรและครอบครัว จะเดินทางกลับเข้าประเทศไทย นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าจะต้องห้ามสายการบินทุกสายรับบุคลเหล่านี้เดินทางเข้าประเทศ
10 กุมภาพันธ์ 2518 ปรากฏข้อเท็จจริงว่าครอบครัวจารุเสถียร 5 คน เดินทางกลับประเทศไทยจริง แต่ไม่มีจอมพลประภาส จารุเสถียร
13 กุมภาพันธ์ 2518 สภาผู้แทนราษฎรทำการสรรหาเลือกตัวนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มีผู้เสนอชื่อ 2 รายชื่อในการสรรหา โดยปรากฏผลดังนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียง 133 เสียง พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เลขาธิการพรรคชาติไทยได้ 52 เสียง จากสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุม 223 คน ขาดประชุม 46 คน ไม่ออกเสียง 38 คน
14 กุมภาพันธ์ 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยชุมนุมประท้วงกรณี ‘ถีบลงเขา เผาลงถังแดง’ มีการนำประชาชนจากจังหวัดพัทลุงมาเปิดเผยข้อเท็จจริงกลางสนามหลวง โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับหมื่น การชุมนุมครั้งนี้ มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กระทิงแดง” ก่อกวนในที่ชุมนุมอยู่ประปราย .. รับขวัญวันวาเลนไทน์ในปีนั้น ที่หนุ่ม(ในยุคนั้น)อย่างผมยังจำได้ดี
การเมืองในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ช่วงต้นปี 2518 ของเมืองไทย เพิ่งจะเริ่มต้น
มาลองติดตามเรื่องราวกันต่อไปซีครับ แล้วท่านอาจจะมองการเมืองในวันนี้ หรือประชาธิปไตยในวันข้างหน้าได้อย่างมองเห็นอะไรได้มากขึ้น
โลกนี้มิได้มีแต่ออนไลน์อย่างเดียวหรอก แต่มีออฟไลน์ด้วย - อย่ามองอะไรกันแต่เพียงด้านเดียวครับ!