เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยมีเนื้อหากำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องไม่เกินร้อยละ 70 จากเดิมร้อยละ 60
การขยายเพดานหนี้ เป็นการเปิดทางให้รัฐบาลมีช่องในการก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท โดยก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้กู้เงินเพิ่มเพื่อเยียวยาสถานการณ์โควิด และดูแลเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลยังมีเงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งวางกรอบวงเงินสำหรับใช้ในการแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโควิดในปี 2564 ไว้ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่วงเงินอีก 3.6 แสนล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะต้องพิจารณาความจำเป็นในการกู้เพิ่มดังกล่าวกรณีสถานการณ์โควิดยืดเยื้อ หรือเศรษฐกิจฟืนตัวช้ากว่าที่คาดการณื
ทั้งนี้โอกาสที่จะกู้เพิ่มนั้นต้องยอมรับว่ามีสูง จากภาพเศรษฐกิจที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท.กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมสามัญประจำปี 2564 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในรูปแบบ Virtual Conference ภายใต้หัวข้อ "มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยุค โควิด" ว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกมิติ ทั้งต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยตัวเลขจีดีพีติดลบมากที่สุดในรอบ 22 ปี นับได้ว่าเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ตัวเลขจีดีพีก็อาจยังไม่สะท้อนผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะส่งผลให้มีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน (ผู้เสมือนว่างงาน คือ มีงานทำแต่ไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) รวมกันอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน ผู้ว่างงานระยะยาว คือ เกิน 1 ปี อยู่ที่เกือบ 2 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว นอกจากนี้ เรายังเห็นแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมจากการถูกเลิกจ้าง โดยล่าสุดในเดือนสิงหาคม มีจำนวน 2 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ที่ 5 แสนคน
ขณะที่นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยธนาคารโลก ระบุว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2564 เหลือ 1% จากเดิมเมื่อเดือน กรกฎา 2564 ที่คาดการณ์ไว้ 2.2% เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนในปี 2565 คาดการณ์จีดีพีจะขยายตัวที่ 3.6% โดยคาดว่าระบบเศรษฐกิจของไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวราว 3 ปี
ขณะที่ธนาคารโลก รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ถูกบ่อนทำลายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่แพร่กระจายเชื้อติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้มีแนวโน้มว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และเกิดความไม่เสมอภาคเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคด้วย โดยจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระยะยาว
แต่ถึงอย่างนั้น ในรายงานของธนาคารโลก ได้ประมาณการว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีหน้า ประเทศเกือบทั้งหมดในภูมิภาค จะสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรได้ร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดทั่วภูมิภาค ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิดได้อย่างสิ้นเชิง แต่ก็จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ อันส่งผลให้สามารถฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เสียงสนับสนุนให้มีการกู้เงินเพิ่มนั้นดังมาจากหลายฝ่าย แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดควบคู่กันไป นอกจากการใช้เงินอย่างเต็มประสิทธิภาพและรอบคอบโปร่งใสแล้ว คือแนวทางการจัดหารายได้เพิ่มเพื่อชำระหนี้คืนที่ต้องมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำเติมพี่น้องประชาชนเช่นกัน