ทองแถม นาถจำนง
ลิงกับมนุษย์นั้นมีต้นเค้าร่วมกัน แต่พัฒนาแยกกัน คือ “ลิงก็เป็นลิง” ส่ง “มนุษย์ก็เป็นมนุษย์” ทั้ง ๆ ที่ DNA หรือรหัสพันธุกรรมของลิงกับมนุษย์นั้นใกล้เคียงกันมาก มีต่างกันเพียงน้อยนิด
แล้วอะไรทำให้ มนุษย์แตกต่างจากลิงมากมายขนาดนี้
คิดเล่น ๆ ก็สนุกดี แต่ถ้าจะเอาคำตอบอย่างเป็นวิทยศาสตร์จริง ๆ แล้ว ก็เป็นปัญหาที่ตอบยากที่สุดปัญหาหนึ่ง
จะตอบอย่างกั้นทุบดินว่า ลิงไม่มีวัฒนธรรมก็ไม่ได้
เพราะจะต้อง ต่อสู้ให้ชนะในการอธิบายความหมายของ “วัฒนธรรม” เสียก่อน
ประการแรกคือ สัตว์มีภาษาของสัตว์หรือเปล่า ? ภาษาจัดเป็นวัฒนธรรมได้หรือยัง ?
นักวิชาการกำลังศึกษาภาษาลิง ภาษาโลมา กันอย่างขมักเขม้นนะครับ ที่กล่าวอย่างนี้เพื่อบกว่า ลิงมีภาษาของลิง เป็นภาษาในระดับสัตว์เดรัจฉาน
การรู้จักใช้ “เครื่องมือ” หมายถึงวัฒนธรรมหรือเปล่า ?
ลิงนั้นรู้จักใช้เครื่องมือนะครับ และที่น่าคิดคือ ในฝูงลิงชิมแปนซีแต่ละท้องถิ่นนั้น (แม้จะอยู่ไม่ไกลกันนักก็ตาม) มีความนิยมใช้ “เครื่องมือ” รูปลักษณะแตกต่างกัน แล้วก็ถ่ายทอดความรู้ (ความนิยม) นั้นต่อถึงลิงรุ่นต่อไปด้วย กระทั่งผู้เขียนสารคดีเรื่องนั้นบอกว่า นี่คือ “(หน่อ)วัฒนธรรม” ที่แตกต่างกันไปในแต่ละฝูง
เมื่อกำหนดแยกคนกับลิงโดยการรู้จักใช้หรือไม่รู้จักใช้เครื่องมือไม่ได้ บางท่านก้เลยจำแนกด้วย “การรู้จักควบคุมตนเอง” หรือ “ไม่รู้จักควบคุมตนเอง” การควบคุมตนเองนั้นเป็นวัฒนธรรมระดับสูงแล้ว ม่าจะนำมาใช้เป็นเงื่อนไขจำแนกลิงกับคนนะครับ
ลองอ่านทัศนะของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เล่าไว้ในรายการ “เพื่อนนอน” กันก่อนดีว่าครับ
“ในสมัยโบราณเราเคยได้ยินถึงเรื่องศิลปศาสตร์ตั้ง 32 หรือ 36 ประการ ผมก็จำไม่ได้แน่ แต่ในวิชาศิลปศาสตร์นั้น มีอยู่วิชาหนึ่งซึ่งคนสมัยใหม่มักจะไม่ค่อยเชื่อถือ คือวิชาเรียนรู้ภาษาสัตว์
คือมนุษย์ไปเรียนรู้วิชาภาษาสัตว์ พูดจาเข้าใจกับสัตว์ต่าง ๆได้ นี่เราก็นึกว่าเป็นความเชื่อถือของคนโบราณ แต่ทุกวันนี้ความสนใจของมนุษย์เกี่ยวกับภาษาของสัตว์นั้นมีมากยิ่งขึ้นทุกวัน มันก็เข้าตำรา ศิลปศาสตร์นั่นเอง เพราะนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจในเรื่องสัตวศาสตร์ เรื่องมานุษยวิทยาเหล่านี้ ก็กำลังให้ความสนใจแก่ความประพฤติของสัตว์บางชนิดและภาษาของสัตว์บางชนิดมากยิ่งขึ้น และสัตว์บางชนิดที่ผมกล่าวถึงในที่นี้ ก็หมายถึงลิงโดยทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นลิงชนิดใด ลิงมีหาง ลิงไม่มีหาง ค่าง ชะนี ตลอดจนไปจนถึงลิงลมและสัตว์คล้ายลิง ที่นักวิทยาศาสตร์สนใจในสัตว์ประเภทลิงมากขึ้นเช่นนี้ ก็เพราะเหตุว่าได้พิสูจน์กันเป็นที่แน่นอนแล้วว่า มนุษย์กับลิงนั้นถ้าจะพูดไปแล้วก็เป็นญาติที่ใกล้ชิดกัน คือมนุษย์ไม่ได้มาจากลิงหรอกครับ แต่ว่ามีบรรพบุรุษร่วมกับลิง แล้วก็เติบโตเจริญพัฒนาต่อมาคนละทางกัน มนุษย์ก็เป็นมนุษย์ และลิงก็เป็นลิงไป ซึ่งด้วยเหตุผลกลใดก็เป็นเรื่องยืดยาวซึ่งจะยังไม่พูดถึงในที่นี้
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์กับลิงใกล้ชิดกันอย่างนี้ ในทางสายโลหิต พูดว่าอย่างนั้นเถอะครับ เพราะว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน การศึกษาเรื่องลิงต่าง ๆ ก็น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความเจริญของมนุษย์และความพัฒนาการต่าง ๆ ของมนุษยชาติได้มากยิ่งขึ้น และด้วยเหตุนี้เอง ในปัจจุบันนี้ก็ปรากฏว่ามีนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้อุทิศชีวิตและร่างกาย ให้แก่การศึกษาสัตว์ประเภทลิง คือความประพฤติต่าง ๆ วิธีการกินอยู่ของลิง ตลอดจนภาษาของลิงอีกด้วย
นายแพทย์ซึ่งเคยศึกษาในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของเด็ก และในทางจิตวิทยาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเด็กกับมารดา ของมหาวิทยาลัยเยลคนหนึ่ง ก็ได้เลิกการค้นคว้าและการศึกษาเดิมที่เคยทำมา หันไปศึกษาลิงโดยเฉพาะ นักวิทยาศาสตร์อีกท่านหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด แห่งสหรัฐอเมริกาพร้อมด้วยภรรยาของท่าน ได้เดินทางไปอยู่ใต้ภูเขาคิรีมานยาโร ที่อฟริกา ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในทวีปนั้น เพื่อจะติดตามฝูงลิงชนิดหนึ่ง และคอยสังเกตความประพฤติ ตลอดจนภาษาของลิง และในที่ใกล้ ๆ กันในแอฟริกาเหมือนกัน ก็ได้มีสุภาพสตรีอังกฤษอีกคนหนึ่ง ได้ไปคอยศึกษาเรื่องค่างอีกชนิดหนึ่งอยู่ที่นั่น นอกจากนั้นก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกมากทั้งในฝรั่งเศสและยุโรป ได้ไปใช้เวลานานๆ อยู่ในประเทศต่าง ๆ ที่มีลิงเพื่อจะอยู่ใกล้ชิดกับฝูงลิงและศึกษาลิง
เมื่อสัปดาห์ก่อนก็ได้มีการประชุมกันที่เมืองมอนทรีล โดยสมาคมวิทยาศาสตร์ของอเมริกาได้เป็นผู้จัดขึ้น การประชุมครั้งนี้ก็ได้มีการพูดจากันถึงเรื่องความประพฤติต่าง ๆ ของสัตว์ประเภทลิงทั้งนั้น สำหรับในเรื่องความประพฤติของลิงนี้ นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเยล ได้ชี้ให้เห็นว่าลิงกับคนนั้นมีอะไรใกล้เคียงกันอยู่บางอย่างในตอนที่ยังเป็นทารก ทั้งนี้เพราะได้สังเกตดูลิงชนิดหนึ่งซึ่งให้แม่ของมันเลี้ยงไว้โดยไม่ปล่อยให้เล่นหัวกับเพื่อนลิงด้วยกัน และไม่มีของเล่นที่จะเล่น และเอาลูกลิงอีกชนิดหนึ่งมาเลี้ยงโดยให้คบเพื่อนคบฝูง โดยมีของเล่นมาก ๆ ก็ปรากฏว่าลิงที่อยู่กับแม่ตลอดเวลานั้น จิตใจเติบโตช้ากว่าลิงที่มีเพื่อนเล่นเป็นลูกลิงด้วยกันและมีของเล่นของลิงไว้คอยเล่น
ข้อสังเกตนี้ก็ไปตรงกับข้อสังเกตเกี่ยวกับเด็กที่เป็นมนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทราบกันมานานแล้วว่า เด็กยากจนที่เกิดในแหล่งเสื่อมโทรมต่าง ๆ นั้น ปกติก็ต้องอยู่กับมารดา ไม่มีโอกาสที่จะได้เล่นหัวเพราะว่าครอบครัวยากจนไม่มีของเล่น ไม่มีโอกาสที่จะไปโรงเรียนหรือคบเพื่อนฝูง เด็กเหล่านี้จิตใจเติบโตช้ากว่าเด็กที่มีฐานะดีกว่าและมีของเล่นมากกว่า มีเพื่อนเด็ก ๆ ด้วยกันสำหรับวิ่งเล่นกันมากกว่า เช่นเดียวกันกับลิงที่เขาได้สังเกตมานั้นเอง
ต่อจากนั้นเขาก็ได้พูดกันถึงเรื่องภาษาลิง เรื่องภาษาของลิงนี้จะเรียกว่าภาษาหรืออะไรมันก็ยังไม่ได้นัก นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังตกลงกันไม่ได้ แต่ว่าที่ตกลงกันได้นั้นก็คือว่าลิงนั้นมันมีทางที่ติดต่อเข้าใจกันได้ และบอกให้กันรู้เรื่องได้ ซึ่งจะเรียกภาษา ก็เห็นจะไม่ผิด แต่มันเป็นภาษาที่ไม่เจริญเท่าภาษาคน และยังไม่เติบโตเท่าภาษาคน เขาเปรียบไว้ออกจะเข้าที คือแต่ก่อนนี้มนุษย์เราเคยถือกันว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐและแตกต่างกว่าสัตว์โลกอื่น ๆ เพราะเหตุว่ามนุษย์รู้จักใช้เครื่องมือ ความเชื่อถือเช่นนั้น เดี๋ยวนี้ก็เชื่อถือกันต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะว่าเนื่องจากการศึกษาลิงนี้เองก็ไปพบว่าลิงบางชนิดมันรู้จักใช้เครื่องมือเหมือนกัน เป็นต้นว่าในการขุดหาปลวกมดมารับประทาน หรือรากไม้หัวมันมารับประทานในป่านั้น ลิงซิมแปนซี ก็เอากิ่งไม้มาเป็นเครื่องมือขุดดินเพื่อที่จะได้อาหารที่ตนปรารถนา มันก็เช่นเดียวกับมนุษย์ใช้จอบใช้เสียมขุดดิน เพราะฉะนั้นการใช้เครื่องมืออย่างขั้นต่ำหรืออย่างง่ายที่สุดนี้ ลิงกับมนุษย์รู้จักใช้เท่ากัน จะถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ใช้เครื่องมือเป็นอย่างเดียวในโลกนั้นไม่ได้เสียแล้ว” (จากรายการ “เพื่อนนอน” 10 มกราคม พ.ศ. 2508)