ทวี สุรฤทธิกุล การเลือกตั้งปีหน้าท่าจะวุ่นวายหนัก เท่าที่ได้สดับรับฟังเรื่องการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังพิจารณากันอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้ ดูท่าจะ “ออกอ่าว” กันไปไกล ปัญหาก็คือจะทำอย่างไรให้คนออกไปเลือกตั้งกันมากๆ และจะทำอย่างไรกับพวกที่ไม่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนน รวมทั้งปัญหาเดิมๆ คือจะทำอะไรกับการซื้อสิทธิขายเสียง ที่นับวันจะยอกย้อนจับผิดได้ยาก เริ่มจากหลักการที่ตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เกี่ยวกับการเลือกตั้งในมาตรา 50 วงเล็บ 7 ที่บอกว่า “ปวงชนชาวไทยมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นสำคัญ” ซึ่งคำว่า “มีหน้าที่” ก็หมายถึง “ต้องทำ” ถ้าไม่ทำก็ต้องมีความผิดตามกฎหมาย แนวคิดนี้เคยมีมาแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้กำหนดโทษของผู้ไม่ไปใช้สิทธิไว้ “8 ประการ” โดยเน้นไปที่การลงโทษในสิทธิทางการเมือง เป็นต้นว่า ไม่ให้ไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นนักการเมืองในทุกระดับ ไม่ให้มีสิทธิร้องเรียนหรือดำเนินการที่จะเรียกร้องในการใช้สิทธิต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องด้วยกิจกรรมทางการเมือง เช่น ไม่มีสิทธิลงชื่อเสนอกฎหมาย หรือถอดถอนนักการเมือง เป็นต้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ปฏิบัติหรือมีการลงโทษในเรื่องเหล่านี้น้อยมาก จนมาถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ก็คิดจะเพิ่มโทษ เช่น ไม่มีสิทธิลดหย่อนภาษีและสวัสดิการจากรัฐ ไม่ให้สิทธิในทางการศึกษาของลูกหลาน ในกรณีของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือสิทธิในการรักษาพยาบาล แต่ในที่สุดแนวคิด “ร้ายๆ” เหล่านี้ก็ถูกคว่ำไป มาถึงปี 2560 ข้อเสนอ “ร้ายๆ” ก็ถูกตั้งประเด็นขึ้นมาอีก ที่ดูออกจะโหดมากๆ ก็คือการตัดสิทธิในการเข้ารับราชการ หรือถ้าเป็นข้าราชการอยู่แล้วก็จะต้องมีโทษทางวินัย รวมถึงที่มีความคิดที่จะเสนอให้ตัดงบประมาณแก่ผู้บริหารหน่วยราชการในพื้นที่ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่เข้าเป้านั้นด้วย ทั้งนี้ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นอนุกรรมาธิการระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ในคณะกรรมาธิการการเมืองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้สอบถามคณะกรรมาธิการที่พิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ว่า เรื่องราวเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่อย่างไร ซึ่งก็ได้รับตำตอบว่าก็มีผู้เสนอมาตามที่เป็นข่าวนั้นจริง แต่ว่ายังไม่ไดรับการพิจารณา และถ้าเป็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการท่านใด ข้อเสนอนั้นก็จะเป็นการ “สงวนคำแปรญัตติ” ที่ขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่าจะมีใครขอสงวนในข้อเสนอดังกล่าว อย่างไรก็ตามในการประชุมอนุกรรมาธิการระบบเลือกตั้งและพรรคการเมืองในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนและอนุกรรมาธิการบางท่านก็ได้เสนอแนวคิดที่จะทำให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากๆ เป็นหลักการกว้างๆ ไว้ว่า น่าจะใช้มาตรการเชิงบวกมากกว่าเชิงลบดังเช่นอดีตที่เคยคิดกันมานั้น ซึ่งผู้เขียนขอเรียกมาตรการเชิงบวกนี้ว่า “มงกุฏทอง” ส่วนมาตรการเชิงลบที่ยังมีคนพยายามจะเสนอขึ้นมาอีกนั้นก็คือ “กระบองเหล็ก” “มงกุฏทอง” เปรียบได้กับการยกย่องหรือให้รางวัลแก่ผู้ประกอบคุณงามความดี มีความสามารถหรือลักษณะที่โดดเด่น (สมัยนี้เขาเรียกสั้นๆ ว่า “มง” อย่างกรณีการประกวดนางงามจักรวาลเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวที่น่าเสียดายว่า น้องมารีญาตัวแทนจากประเทศไทย “พลาดมง” ในขณะที่นางงามจากแอฟริกาใต้ “มงลง”) ดังนั้นเราก็ควรให้รางวัลและยกย่องผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งว่าเป็นผู้ได้ประกอบคุณงามความดี สมควรที่จะมอบ “มงกุฏทอง” นี้ให้ สมัยนี้เป็นสมัยที่คนจำนวนมากชอบที่จะ “แสดงความเป็นตัวตน” หรือที่ฝรั่งใช้คำว่า “Somebody” ดังที่เราจะเห็นอยู่ในโซเชียลมีเดีย แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นคนขี้อาย ไม่อยากดังหรือเป็นข่าวอะไรนัก แต่ด้วยกระแสสื่อสังคมสมัยใหม่ก็ได้ทำให้นิสัยเช่นนี้เปลี่ยนแปลงไป บางคนนั้นถึงขั้นที่ทำอะไรแปลกๆ ให้ดูโดดเด่น เพื่อที่จะเป็นข่าวหรือปรากฏตัวตนไปในกระแสสังคมต่างๆ (เช่น บางคนก็ออกมาด่าคนที่ทำคุณงามความดี เพื่อให้คนรุมด่าตัวเอง ตัวเองจะได้โด่งดัง แม้จะเป็นเรื่องเลวๆ ก็ตามที) ผู้เขียนอยากจะให้เริ่มจากผู้ที่เพิ่งจะมีสิทธิไปลงคะแนนเป็นครั้งแรกในชีวิต คือวัยรุ่นคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งคนพวกนี้จะอยู่ในสถาบันการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในระดับมัธยมปลายและในมหาวิทยาลัย โดยพฤตินิสัยของคนวัยนี้ก็มักชอบที่จะทำอะไรให้ “เด่นดัง” อยู่แล้ว อาจจะมีการให้รางวัลแก่ผู้ไปใช้สิทธิ เช่น ให้เกียรติบัตรจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย จากนั้นเมื่อคนเหล่านี้ไปเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไป กระทรวงมหาดไทยโดยสำนักทะเบียนราษฎร์ก็ควรจะมีการเก็บบันทึกข้อมูลผ่านทะเบียนบัตรประชาชน ดูความถี่ของการไปเลือกตั้ง แล้วให้รางวัลเป็นระยะๆ ตามจำนวนครั้งของการไปใช้สิทธิ เหมือนกับที่สภากาชาดไทยให้รางวัลแก่ผู้บริจาคโลหิต ที่อาจจะหมายถึงการให้ได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงวัยสูงอายุ เช่น ได้รับเบี้ยเกษียณ หรือลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ รวมถึงดูแลจัดการงานศพแบบฌาปนกิจสงเคราะห์นั้นด้วย ลองเสนอกันเยอะๆ สังคมไทยจะได้น่าอยู่และมีความสุขมากขึ้น