สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สศช.อยู่ระหว่างการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2566 -2570 โดยจะจัดให้มีการรับฟังและระดมความคิดเห็นต่อ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อีกครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม 2564-มกราคม 2565 เพื่อปรับแผนฯ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ตามลำดับ ก่อนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา และทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อยู่บนพื้นฐานหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด Resilience เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือการพลิกโฉมประเทศไทย สู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ ในงาน “Mission to Transform 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกที่กำลังกระทบกับหลายประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทยคือแนวโน้มที่เรียกว่า Mega Trend ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิต การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ยิ่งจะทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อน ส่งผลกระทบต่อชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องแก้ไขจุดอ่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเร่งขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญเติบโต ที่ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้การพัฒนาประเทศไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการทำงานของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อ "พลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้าเศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน" ต่อไป ทั้งนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมาย 5 ประการ คือ 1. การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม 2. การพัฒนาคนให้มีความสามารถและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ 3. การสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 4. การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ รัฐบาลมุ่งเน้นให้การพัฒนาประเทศในทุกมิติต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยน และ 5. การเตรียมความพร้อมให้กับประเทศ ในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานที่มีคุณภาพและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐที่ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เราเห็นด้วยและตื่นตัวไปกับเป้าหมายการพลิกโฉมประเทศไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว จะต้องมีแผนออกมารองรับที่สอดคล้องกันในทุกระดับตั้งแต่ภูมิภาคลงไปถึงระดับท้องถิ่น เพื่อให้สอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ