การเดินสายพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในภารกิจติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด ทั้งเพชรบุรี สุโขทัย ถูกตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณต่อสู้ทางการเมืองในสมัยหน้า แทนที่ความพยายามหาทางลงอย่างสง่างาม ทำให้ข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่กลับมาคึกคักอีกครั้ง ท่ามกลางความวุ่นวาย และความพยายามเข้าไปสลายขั้วอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐก่อนหน้านี้ กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับจากปี 2562 มาถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนักการเมืองเต็มตัว ทั้งโดยนิตินัย และพฤตินัย ทำให้มีความเคลื่อนไหวจากพรรคเพื่อไทยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูฯตีความการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ที่ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” โดย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ควรตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือนายกรัฐมนตรีควรจะเป็นต่อกันไม่เกิน 8 ปีพล.อ.ประยุทธ์จึงจะเป็นนายกฯได้อีกเพียง 1 ปีเท่านั้น แต่ก็อาจจะมีพวกศรีธนญชัยที่ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับย้อนหลัง คือให้นับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับการเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. หรือเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 การเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จึงเริ่มนับตามรัฐธรรมนูญ60จึงไม่เกิน 8 ปี ทว่าเมื่อมาดูผลสำรวจความคิดเห็นของ "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในประเด็นเกี่ยวกับบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 32.61 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ17.54% ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาได้ดี ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก อันดับ 3 ร้อยละ11.15%ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะ ที่ผ่านมาเคยบริหารงานได้ดี มีผลงานที่โดดเด่น ใส่ใจประชาชนและมีประสบการณ์การทำงาน อันดับ 4 ร้อยละ11.05% ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ เป็นนักบริหารงานที่ดี มีภาวะผู้นำสูง มีวิสัยทัศน์ที่ดี มองการณ์ไกล และมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน อันดับ 5 ร้อยละ 9.07%ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ บริหารงานอย่างตรงไปตรงมา และมีวิสัยทัศน์ในการทำงาน อันดับ 6 ร้อยละ7.48% ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ อันดับ 7 ร้อยละ 2.58% ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคกล้า) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง วางตัวดี มีความรู้ความสามารถ และมีวิสัยทัศน์ที่ดี อันดับ 8 (2.33%) ระบุว่าเป็น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์ และจริงจังกับการทำงาน อันดับ 9 ร้อยละ1.54% ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ ชื่นชอบแนวคิดการทำงาน มีวิสัยทัศน์ที่ดี และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว อันดับ 10 ร้อยละ1.24%ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา และชื่นชอบในการทำงาน และ ร้อยละ3.41% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคเศรษฐกิจใหม่) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายชวน หลีกภัย นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร นายสุทิน คลังแสง นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากผลสำรวจสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีคะแนนนิยมสูงเหนือกว่าคู่แข่งทางการเมืองอื่น เป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต้องงัดกฎหมายออกมาเตะสกัด ทั้งนี้ทั้งนั้น เส้นทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีจะไปต่อหรือไม่ นอกจากจะขึ้นอยู่กับพล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจแล้ว ที่สำคัญคือประชาชน