เสือตัวที่ 6
ความเชื่อทางศาสนาเกือบทุกศาสนา ล้วนมีความเชื่อกันว่า มนุษยชาติในโลกใบนี้ ล้วนมีเผ่าพันธุ์ ที่มาจากรากเหง้าเดียวกัน ตั้งแต่ยุคแรกของการกำเนิดโลก แล้วก็แตกเหล่าแตกกอ ออกไปสร้างรกรากถิ่นฐานกระจายและขยายเผ่าพันธุ์ไปยังพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งมีผู้นำทางจิตวิญญาณที่พยายามค้นหาหลักความจริงของชีวิต นำมาสั่งสอนให้ผู้คนที่ศรัทธามีความคิดความเชื่อตามหลักการที่ผู้นำทางศาสนาท่านนั้นค้นพบ จนขยายวงผู้คนที่มีความเชื่อความศรัทธาเดียวกันให้กว้างขวางออกไปจนกลายเป็นศาสนาต่างๆ มากมายในโลกใบนี้ ซึ่งแม้จะมีหลักการทางความเชื่อ การปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้าง หากแต่ทุกความเชื่อทางศาสนา ก็ล้วนแต่มุ่งประสงค์ให้คนในกลุ่มคนเป็นคนดี และที่สำคัญ หลักการตามคำสอนตามความเชื่อทางศาสนาเหล่านั้น แม้จะมีการปฏิบัติตามศาสนากิจของแต่ละศาสนาแตกต่างกัน หากแต่ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อการไปเบียดเบียนกัน จนกระทั่งกาลเวลาผ่านพ้นมาเป็นเวลานาน กลับมีคนบางกลุ่ม พยายามทำหลักความเชื่อของตน ให้ดูประหนึ่งว่าอยู่เหนือกว่า ดีกว่า ถูกต้องกว่าความเชื่อของกลุ่มอื่น รวมทั้งใช้แนวทางดังกล่าว ในการทำให้ผู้คนในสังคมโลกมีความขัดแย้งแตกต่างระหว่างความเชื่อของตนกับคนกลุ่มอื่นอย่างไม่มีเหตุผลตามความเชื่อดั้งเดิม หากแต่แอบซ่อนความมุ่งประสงค์เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนชั้นนำของความเชื่อเหล่านั้นอย่างน่าละอายยิ่ง
ความจริงจากหนังสือประวัติและเรื่องน่ารู้ของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ สยาเราะห์มลายู บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า หลักฐานต่างๆ มาแล้ว ชาวมลายูนี้มาจากชาวน้ำผสมกับชาติไทย ทางเมืองละโค (นครศรีธรรมราช) ชุมพร ไชยา ก่อนชาติอื่นๆ แล้วยังมีชาติยะวา (ชวา) มาภายหลังจึงได้มีชาติอื่นๆ มาผสมด้วยชาติไทยได้มาเป็นเจ้าเมืองปาหัง และมาตั้งเมืองลังกาสุระ (ปัตตานี) เพราะฉะนั้นเชื่อแน่ว่า ชาติมลายูนี้ มีโลหิตไทย อยู่มากกว่าชาติอื่น ยิ่งไปกว่านั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีความชัดเจนว่า ผู้คนในภาคใต้มีเลือดผสมผสานระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆ ที่ยังคงมีร่องรอยแสดงให้เห็นชัดเจนที่สุด จากผลของสงคราม และการติดต่อสัมพันธ์กันทางการค้า และสภาพการทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ไทย จีน อินเดีย เขมร มอญ ชวา มลายู เซมัง และชาวน้ำ มาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ อีกทั้งปรากฏหลักฐานที่ชี้ชัดของ ดร.ปอลเบนดิต (Dr.Poul Benediet) ชาวอเมริกัน และ มร.อีริคไซเดนฟาเดน (Mr.Erick Seidenfaden) ชาวเดนมาร์คกล่าวว่า ผู้คนในตระกูลไทยและมาเลย์นั้น สืบสายเลือดมาจากชาติพันธุ์เดียวกัน ซึ่งตรงกับผลของการศึกษาค้นคว้า ของพระยา สมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลล่าห์ ภายหลังใช้นามสกุลพระราชทานว่า สมันตรัฐ) ซึ่งล้วนมีที่มาจากรากเง้าเดียวกันทางชาติพันธุ์โดยแท้
รากเหง้าเผ่าพันธุ์เดียวกันนี้ มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ว่า ชาติมลายูนี้มาจาก โอรังลาโวค คือชาวน้ำเป็นแน่นอน ผสมกับพวกต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ชาวน้ำตามประวัติศาสตร์แหลมมลายูกล่าวว่า มาจากแหลมอินโดจีน และเห็นว่าชาวมลายูนี้มาจากชาวน้ำผสมกับชาติไทย ทางเมืองละโค (นครศรีธรรมราช) ชุมพร ไชยา ก่อนชาติอื่นๆ แล้วยังมีชาติยะวา (ชวา) มาภายหลังจึงได้มีชาติอื่นๆ มาผสมด้วย นอกจากนั้น จากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ บ่งชี้รากเหง้าเดียวกันของผู้คนในพื้นที่ปลายด้ามขวานและแหลมมลายูว่า มีที่มาจากเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์เดียวกันอย่างชัดเจน หากแต่ได้แผ่ขยายเผ่าพันธุ์ด้วยการผสมผสานของชนเผ่าต่างๆ จนกลายเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไปตามแต่วิถีชีวิตและวิถีความเชื่อทางศาสนาของแต่ละกลุ่ม ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้จักกันในนาม "โอรังเสียม" หรือชาวสยาม อันเป็นนามประเทศ และชื่อของคนที่เป็นเจ้าของประเทศมาก่อนคนเสียมเข้ามาสู่ไทย-มลายูนานเท่าไร ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนชัดเจน จากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ อาทิ อิบรอฮิม ซุกรี กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าดินแดนแห่งนี้มีนามว่า ดินแดนมลายู แต่ก็มิได้หมายความว่าชาวมลายู เป็นชนชาติแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ชาวมลายูต่างหาก ที่เป็นชาติหลังที่สุดที่เข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนแห่งนี้ หลังจากที่มีชนชาติอื่นได้เข้ามาอยู่ก่อนแล้ว โดยก่อนหน้านี้ มีชาวฮินดู เดินทาง มาจาก อินเดีย และมีชาวสยาม ซึ่งตั้งภูมิลำเนาอยู่เดิม ได้เข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนสยาม จนกระทั่งช่วงสุดท้าย ชาวมลายูจึงเพิ่งได้เข้ามาอาศัยในดินแดนแห่งนี้”
หลักฐานความเป็นมาของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ พบว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรแรกของมลายูก็คือรัฐมะละกา ราชาปรเมศวร เชื้อสายกษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต ในเกาะชวา เป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1946 ในรัฐเกดาห์ (ไทรบุรี) คนเผ่าไทยพื้นเมืองดั้งเดิมถูกเรียกว่า “พวกซัมซัม” หรือ “สามสาม” ซึ่งเป็นคำที่เลือนมาจากคำ “เสียม-เซียม” หรือ “สยาม” ตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี ตอนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อราชามารงมหาวังสา พร้อมด้วยอำมาตย์ ข้าราชบริพาร ขึ้นฝั่ง เพื่อสำรวจ ภูมิประเทศ บนเกาะสรี พบว่า “ชาวพื้นเมืองล้วนแต่เป็นพวก Gergasi หรือ อสูร” ราชามารงมหาวังสา เป็นคนอินเดีย จึงมองเห็นคนพื้นเมือง ที่ด้อยความเจริญกว่า ว่าเป็นพวกยักษ์พวกมาร ดังที่เคยมองชาวศรีลังกามาแล้วในอดีต และอีกตอนหนึ่งว่า “บรรดาเหล่าอสูร มีพระเจะเสียม และนางสุตามัน เป็นหัวหน้า”
จากข้อความในตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี แสดงให้เห็นว่า คนเสียมได้มาอาศัยอยู่ในแหลมมลายูมาช้านาน ทั้งจำนวนผู้คน และความเจริญ ก็คงจะเหนือกว่าชนเผ่าอื่นๆ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำของชุมชนซึ่งอยู่ร่วมกันหลากหลายเผ่าพันธุ์ ผู้คนเหล่านั้น ได้ประสมประสาน สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ จนเกิดลักษณะทางกายภาพดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ต่อมาผู้คนเหล่านี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นชุมชนขึ้นทำการปกครองกันเอง โดยมีหัวหน้าเผ่าเป็นผู้นำ ราวพุทธศตวรรษที่ 7-8 และได้มีการติดต่อ รับวัฒนธรรม จากชนชาติอินเดียที่เดินทางเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า จึงเกิดการพัฒนาชุมชน ขึ้นเป็นบ้านเมือง และแคว้นน้อยใหญ่ขึ้นมา บ้านเมืองยุคแรกที่ตั้งอยู่บนแหลมไทย-มลายู ที่ปรากฏชื่ออยู่ในจดหมายเหตุของชาวจีน ได้แก่ เมืองตันซุน ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือบริเวณท้องที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประเทศที่มีชาวเมืองเป็นเชื้อชาติเดียวกับประเทศฟูนัน ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็มีพวกที่นับถือพราหมณ์อยู่ด้วย
เหล่านี้ คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งหลักฐานทางวัตถุที่บ่งชี้ที่มาที่ไปของผู้คนในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ ว่ามีรากเหง้าเดียวกันกับคนในแผ่นดินไทยอย่างแท้จริงจนแยกไม่ออก หากแต่ผู้คนรุ่นปัจจุบันที่มีความขัดแย้งแตกต่างทางความคิด เพียงเพราะต้องการผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนต่างหาก ที่พยายามบิดเบือนให้เห็นเป็นคนละชาติพันธุ์ เพื่อเดินทางไปสู่เป้าหมายแห่งจินตนาการ โดยอาศัยความเชื่อทางศาสนาให้เป็นพลังในการขับเคลื่อน และตั้งใจในการบิดเบือนให้ความเป็นคนที่รากเหง้าเผ่าพันธุ์เดียวกันนี้ ผิดเพี้ยนไป