ทวี สุรฤทธิกุล
การสร้างตัวตนของนักการเมืองผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้เห็นความแตกต่างใน “ราคา” ของแต่ละคน
ผู้เขียนเกิดไม่ทันการเมืองไทยยุคแรก ๆ แต่ได้อาศัยการพูดคุยกับนักการเมืองที่เริ่มชีวิตการเมืองไทยมาตั้งแต่ยุคนั้น อาทิ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และนายทองหยด จิตตะวีระ ที่ล้วนแต่ทำงานการเมืองมาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าท่านทั้งสามนี้จะไม่ได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองใน พ.ศ. 2475 แต่ก็มีส่วนในการพลิกโฉมการเมืองไทยในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่สืบเนื่องมาถึงยุคก่อนระบอบทักษิณ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างการเมืองไทยยุคเก่ากับยุคใหม่ ที่เรียกว่า “ยุคอนาล็อก” มาเป็น “ยุคดิจิทัล”
นักการเมืองรุ่นเก่าเหล่านั้นเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า สื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุดคือหนังสือพิมพ์ แต่ก็จำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำกับคนในเมือง การสร้างข่าวให้เป็นชื่อเสียงแก่ตนในการทำงานทางการเมือง ก็ต้องทำด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นก็ทำให้เกิดเป็น “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” หรือการกระจายข่าวแบบ “ปากต่อปาก” ต่อมาพอมีวิทยุกระจายเสียงที่ออกอากาศในทางสาธารณะภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารออกไปได้ในวงกว้าง เนื่องจากวิทยุที่ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากยุโรปและอเมริกายังมีราคาแพง จะซื้อได้ก็แต่ผู้มีฐานะดีหรือข้าราชการระดับสัญญาบัตร โดยเพิ่งจะมาแพร่หลายในช่วงที่มีวิทยุทรานซิสเตอร์ของญี่ปุ่นนำเข้ามาขายในตอนที่ผู้เขียนเกิด คือตั้งแต่หลังกึ่งพุทธกาลใน พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงนั้นก็เริ่มมีโทรทัศน์ออกอากาศด้วยแล้ว แต่กระนั้นก็เป็นสื่อที่ถูกควบคุมโดยรัฐ เช่นเดียวกันกับวิทยุที่ถูกรัฐควบคุมไว้นั้นมาก่อน ดังนั้นการสื่อสารสาธารณะในสมัยก่อนจึงถูกจำกัด จะมีก็แต่หนังสือพิมพ์ที่ยังคงเป็นสื่อหลักในทางสาธารณะที่ยังเปิดกว้างสำหรับประชาชน โดยเฉพาะภายหลังจากที่การคมนาคมขนส่งทางรถยนตร์ได้พัฒนาขึ้นทั่วประเทศในยุคสงครามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
นักการเมืองในยุคเก่าต้องสร้างข่าวกันเอง เพราะไม่สามารถจะอาศัยสื่อของรัฐได้ และเพื่อให้หนังสือพิมพ์เอาไปออกข่าว และอาจจะได้มีโอกาสเป็นข่าวทางวิทยุกับโทรทัศน์ ด้วยการที่มีโฆษกของทั้งสองสื่อนั้นนำไปอ่านออกอากาศ ก็ต้องทำตัวเองให้เด่นดังด้วยวิธีการแปลก ๆ แบบบ้าน ๆ ก็คือ ทำตัวให้เป็นผู้วิเศษ เช่น ต้องแต่งตัวหรือกินอยู่ไม่ให้เหมือนคนทั่วไป บางคนไปหานักเลงให้มาทำร้ายตัวเองเพื่อให้ออกข่าว แม้แต่ให้คนมาขว้างระเบิดในระหว่างหาเสียงก็มีคนทำกัน แต่วิธีที่นิยมกันมากก็คือ การทะเลาะกับคนใหญ่ ๆ โต ๆ หรือคนมีชื่อเสียง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในรัฐบาล เช่น มี ส.ส.บางคนขับรถทำน้ำกระเด็นใส่ผู้ใหญ่ที่กำลังเดินอยู่ริมถนน หรือท้าตีท้าต่อยกับผู้ใหญ่ทั้งหลายนั้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้หนังสือพิมพ์ก็ยังเป็นช่องทางที่สะดวกที่สุดในการเผยแพร่ข่าว ดังนั้นนักการเมืองบางคนจึงเป็นสื่อเสียเอง เช่น เป็นคอลัมนิสต์ จนถึงเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ ในทำนองเดียวกันที่ บางคนก็เข้าไปจัดรายการวิทยุรวมถึงรายการโทรทัศน์ โดยอาศัยอำนาจรัฐ ดังนั้นสื่อทางการเมืองจึงแบ่งเป็น 2 ค่าย โดยค่ายรัฐบาลจะครอบครองพื้นที่ในวิทยุและโทรทัศน์ ส่วนค่ายฝ่ายค้านจะมีพื้นที่อยู่ในหนังสือพิมพ์
การสื่อสารสาธารณะในทางการเมืองมา “เปลี่ยนโฉม” ในช่วง พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา ที่การสื่อสารทางคอมพิวเตอร์ในระบบอินเตอร์เน็ตเริ่มจะแพร่หลาย พร้อมกับการเกิดขึ้นของโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมสื่อสาร แล้วก็เข้ามาส่งผลต่อการเมืองไทยที่เป็นระบอบกึ่งเผด็จการมาทุกยุคทุกสมัยนี้เป็นอย่างมาก เพราะภายใต้ระบอบกึ่งเผด็จการที่สื่อต่าง ๆ ถูกควบคุมโดยรัฐ ประชาชนก็ถูกควบคุมโดยปริยายในการใช้สื่อสาธารณะ แต่พอมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ยากแก่การควบคุมของรัฐ ประชาชนก็มีพื้นที่ที่จะแสดงออกได้มากขึ้น เช่น กรณีการจลาจลในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่ฝ่ายทหารต้องพ่ายแพ้ต่อประชาชนอีกครั้งหนึ่ง (ครั้งแรกก็คือเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516) ก็เกิดจากประชาชนสามารถสื่อสารกันผ่านมือถือ จนเรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “ม็อบมือถือ” และมีสื่อจากนานาชาติภายนอกมาช่วยเพิ่มการรับรู้ให้กับประชาชน ด้วยสำนักข่าวต่างประเทศผ่านดาวเทียม ที่ประชาชนสามารถรับฟังรับชม จนกระทั่งถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนข่าวสารเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง จึงทำให้ระบอบทหารในตอนนั้นต้องพ่ายแพ้ไป รวมถึงที่ได้โค่นล้มระบอบทักษิณ ใน พ.ศ. 2549 ก็ด้วยพลังของการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์นี้เช่นกัน โดยมีชื่อเรียกในยุคใหม่ว่า “สื่อดิจิทัล”
อย่างไรก็ตาม แม้สื่อสาธารณะจะพัฒนาขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่สื่อดิจิทัลได้กลายเป็นสื่อหลักในยุคปัจจุบัน แต่การสร้างข่าวของนักการเมืองก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก หลายคนยังใช้วิธีการที่ทำตัวให้แปลกประหลาด ให้เป็นข่าวให้ได้ในทุกวิถีทาง ใครจะว่าหน้าด้านหน้าทนหรือกระทำไม่เหมาะสมก็ไม่สนใจ รวมถึงที่ชอบสร้างความขัดแย้ง ทะเลาะกับคนโน้นคนนี้ ถึงขั้นด่าทอกันหยาบ ๆ และท้าตีท้าต่อยให้เป็นข่าว ซึ่งถ้ามองด้วยภาพลักษณ์เช่นนี้แล้ว ก็อาจจะประเมินได้ว่า “ราคาของนักการเมือง” ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากสมัยก่อนที่ “ไร้ราคา” อย่างไร ทุกวันนี้ก็ยัง “ไม่มีราคา” อยู่อย่างนั้น
ผู้เขียนนึกถึงนักการเมืองรุนเก่าที่เคยคุยด้วย ท่านบอกว่า ตอนแรกก็หวังว่าการมีขึ้นของวิทยุโทรทัศน์จะทำให้นักการเมืองมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เพราะมีรัฐช่วยควบคุม แต่ก็ยิ่งแย่กว่าเดิม เพราะว่ารัฐนั่นเองที่ใช้สื่อวิทยุโทรทัศน์มาทำร้ายนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม อย่างเช่น การใช้สื่อวิทยุปลุกระดมลูกเสือชาวบ้านและประชาชนให้ต่อสู้กับนักศึกษาในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และที่รัฐใช้ยึดอำนาจในทุกครั้ง และปิดกั้นการสื่อสารในสมัยที่ทำรัฐประหารทั้งหลายนั้น และด้วยระบบ “พวกมากลากไป” ในรัฐสภาของไทย ทำให้ ส.ส.หรือนักการเมืองในฝ่ายของรัฐนั่นเองที่ถือเป็นอภิสิทธิ์ ใช้อำนาจบาตรใหญ่ แสดงอำนาจวาสนาของตน ด้วยเชื่อว่าจะมีพรรคพวกและรัฐบาลช่วยปกป้อง ด้วยคติในสังคมของคนกลุ่มนี้ที่ว่า “แมลงวันไม่ตอมพวกเดียวกัน”
ที่เกริ่นมาถึงการสื่อสารสาธาราณะในอดีตเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน ก็เพื่อจะอธิบายต่อไปว่า ยังมีการแบ่งราคาของนักการเมืองเป็นอีกหลายชั้น คือ “แก่น ก้อน เกล็ด และกระพี้” ที่คนในสมัยนี้ยังให้ราคากันผิด ๆ ทำให้การวิเคราะห์การเมืองเกิดข้อผิดพลาดอยู่ตลอด ที่จะได้นำมาเสนอในสัปดาห์ต่อไป