แม้ปัญหาจากการเรียนออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาและสุขภาพของเด็ก รวมทั้งผลกระทบต่อสังคมที่ละเอียดอ่อน หากแต่การเปิดเทอมโดยการเตรียมความพร้อมในเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยเป็นความสมัครใจและความยินยอมของผู้ปกครองนั้น ยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงด้วยผู้ปกครองก็มีความกังวลถึงความปลอดภัยของเด็ก ทั้งนี้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผ่านรายการ “พุธเช้า...ข่าวสพฐ.”ถึงแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้แก่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 12 ปี จนถึง 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด โดยจะอนุโลมให้แก่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุเกิน 17 ปี 11 เดือน 29 วันด้วย ซึ่งจะครอบคลุมนักเรียนนักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า รวมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 12 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป โดยจะเริ่มฉีดให้แก่นักเรียนนักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน พร้อมตั้งเป้าหมายให้นักเรียนนักศึกษาทุกคน ทุกสังกัด จำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน อีกส่วนคือแผนการดำเนินโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS) ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับ สธ. ลงพื้นที่ตรวจโรงเรียนที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ ว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่ โดยการเข้าร่วมเป็นโรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1) เป็นโรงเรียนประจำ 2) เป็นไปตามความสมัครใจ และ 3) ผ่านการประเมินความพร้อม โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านต้นสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครองและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อีกทั้งจัดให้มีสถานแยกกักตัว และ Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจราชการของ ศธ. และ สธ. รวมถึงมีการรายงานผลผ่าน MOE COVID และ Thai Stop Covid Plus ซึ่งในขณะนี้มีสถานศึกษา 15,465 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษา 1,687 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,305 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21 แห่ง และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 250 แห่ง ซึ่ง ศธ. จะพิจารณาความพร้อมของสถานศึกษาสำหรับการเปิดภาคเรียนตามบริบทที่เหมาะสม “สำหรับการฉีดวัคซีน คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้นักเรียนนักศึกษา อายุ 12-18 ปี ในต้นเดือนตุลาคมนี้ และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม (เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ระยะห่างจะอยู่ที่ 3-4 สัปดาห์) ส่วนการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 จะพิจารณาแยกตามข้อกำหนด มาตรการ และสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ต่อไป” ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุตอนหนึ่งว่า “การให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็ก วัคซีนจะต้องมีความปลอดภัยสูงมาก จึงจะคุ้มค่า เพราะตัวเด็กเอง โดยเฉพาะวัยเรียน เป็นแล้วไม่รุนแรง นอกจากจะนำเชื้อมาสู่ผู้แก่ ผู้เฒ่าที่บ้าน หรือทำให้เกิดการระบาดได้โดยเฉพาะในโรงเรียน ที่มีคนอยู่ร่วมกันมากๆ การให้ mRNA วัคซีนในเด็กอายุ 12-17 ปี มีความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถ้าคำนึงถึงผลได้ ผลเสียในระยะเวลา 120 วัน เด็กอายุ 12-17 ปี ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 mRNA 1 ล้านคน จะป้องกันการเสียชีวิตในเด็กชายได้ 2 คน และถ้าเป็น เด็กหญิง 1 คน ถ้าฉีดวัคซีน mRNA เข็มที่ 2 มีโอกาสเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในเด็กวัยชาย (12 ถึง 17 ปี) 59 -69 คน เด็กวัยหญิง 8-10 คน ใน 1 ล้านคนที่ฉีดวัคซีน ใน (ประเทศสหรัฐอเมริกา) กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรจะได้รับวัคซีนก่อนให้มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตก่อน แล้วถ้าวัคซีนมีมากเพียงพอ ทุกคน ก็ควรได้รับวัคซีน รวมทั้งเด็กด้วย ความเสี่ยงและประโยชนที่ได้ จะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครอง?” ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าหนักใจสำหรับผู้ปกครองที่ต้องชั่งน้ำหนักประเมินความคุ้มค่าและความเสี่ยง