ณรงค์ ใจหาญ
โครงการใหญ่ๆ ที่รัฐเป็นผู้ลงทุนหรือสนับสนุนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในกระบวนการผลิต หรือส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทั้งทางน้ำ อากาศ ดิน หรือการมีของเสียอันเกิดจากกระบวนการผลิตหรือการบริการที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การปัญหาสุขภาวะของทั้ง คน สัตว์ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้โครงการใหญ่ๆ ที่เคยมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เห็นประจักษ์เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน การทำเหมืองแร่ทองคำ การสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานปรมาณู จึงมีกลุ่มมวลชนต่อต้านจนทำให้โครงการดังกล่าวไม่อาจดำเนินการได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการวางแผนพัฒนาของเจ้าของโครงการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
สาเหตุที่เกิดปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากการดำเนินธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรมแล้วก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เจ้าของกิจการขาดความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่กฎหมายและระเบียบที่หน่วยงานภาครัฐกำหนดไว้ให้ต้องดำเนินมาตรการในการป้องกันและควบคุมการปล่อยของเสียออกไปสู่สาธารณะ เช่น ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย ของเสีย หรืออากาศเสียที่ได้มาตรฐาน แต่ในบางกิจการไม่ยอมดำเนินการเพราะต้องการประหยัดงบประมาณ หรือลักลอบทิ้ง หรือปล่อยของเสีย ออกสู่สาธารณโดยไม่มีการบำบัด ทำให้ประชาชน และสภาพแวดล้อมได้รับผลเสียหายจากมลพิษเหล่านี้
นอกจากนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนได้เสียกับผลกระทบที่เกิดขึ้น การรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมและกำหนดไว้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ประชาชนมีความตระหนักว่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการดำเนินการใดๆ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ผลพวงของความตระหนักที่ประชาชนมีต่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมนี้ ทำให้เกิดแนวคิด กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เปิดโอกาสให้ประชาชน ชุมชน องค์กรเอกชนทางด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในโครงการที่กำลังจะมีขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาจากการดำเนินธุรกิจหรือโครงการนั้น ที่เรารู้จักกันในการทำ EIA หรือ EHIA นั่นเอง
เมื่อกลไกในการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความแข็งแรงและแข็งแกร่งมากขึ้น กลไกในการตรวจสอบของภาคประชาชนต่อการดำเนินกิจการในโครงการใหม่ๆ หรือโครงการใหญ่ๆ ที่ต้องการความรวดเร็วและส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล จึงกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการ กับการต่อต้านของภาคประชาชนซึ่งมีความหวั่นเกรงต่อผลกระทบที่ตามมาจากการก่อสร้างหรือดำเนินโครงการนั้นๆ เพราะยิ่งพัฒนากิจการนั้นมาก ยิ่งทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมมากขึ้นส่งผลต่อสุขภาพ อนามัยและการดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพเกษตรกรของตน จนทำให้บางโครงการไม่อาจดำเนินการได้เลย ส่งผลต่อแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมที่ตามมา
ผลของการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ มีได้สองรูปแบบ รูปแบบที่หนึ่ง มีกระบวนการกำจัดแกนนำ ไม่ว่าจะเป็นการลอบทำร้ายหรือการฆ่า หรือการอุ้มหาย หรือในรูปแบบที่สอง ใช้กลไกทางกฎหมายฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือความผิดฐานไขข่าวในเรื่องอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอันเป็นความเท็จ ทำให้แกนหรือผู้นำชุมชนถูกดำเนินคดี ไม่อาจเป็นแกนนำในการต่อต้านได้ แต่การดำเนินการทั้งสองกรณียังไม่อาจหยุดการต่อต้านแม้ในปัจจุบัน เช่นโครงการสร้างเขื่อน โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
ภาพลบอันนำไปสู่การต่อต้านและไม่เชื่อถือรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการไปแล้ว เพราะเจ้าของโครงการไม่ดำเนินการตามแผนที่เสนอไว้ว่าจะป้องกันการก่อให้เกิดมลพิษ และเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ก็อ้างว่า เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้เพื่อปฏิเสธให้พ้นจากความรับผิดทางแพ่ง ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับกิจการดังกล่าวจึงไม่มีความมั่นใจและเชื่อถือว่า หากได้รับอนุมัติให้ดำเนินการไปจริง จะสามารถควบคุมหรือป้องกันปัญหาได้ตามที่ระบุไว้ในรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ การคัดค้านจึงเป็นไปในทางไม่ให้มีโครงการนี้เลย แทนที่จะมาเสนอแนวทางในการป้องกันที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน
การที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายหรือรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเจ้าของโครงการ และภาพลบของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมนี้ นำมาซึ่งการคัดค้านของกลุ่มประชาชนที่มีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกประเทศ จึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลและเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้เสนอโครงการ จะต้องคำนึงถึง และต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของโครงการให้มีความเข้าใจร่วมกันและให้สัญญาที่สามารถทำได้จริงกับประชาชนด้วยหากเกิดความเสียหายขึ้นจริง
แนวคิดในเรื่องผู้ประกอบธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องคำนึงถึงการรักษาคุณภาพชีวิต การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการประกอบธุรกิจที่หวังกำไร เป็นแนวคิดหลักที่ต้องพิจารณาคู่ขนานกัน ดังนั้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต รวมถึงการกำหนดกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการควบคุมของเสียให้เป็นศูนย์เพื่อไม่ให้มีของเสียปล่อยออกสู่สาธารณะ จึงเป็นกลไกสำคัญในการที่จะดำเนินกิจการต่อไป อีกทั้ง การสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อให้ได้ความรู้ในการประกอบกิจการใหม่ๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากการประกอบธุรกิจเดิมที่มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบฟุ่มเฟือย และไม่ยอมใช้งบประมาณของตนในการกำจัดมลพิษอย่างถูกวิธี เป็นเรื่องที่เจ้าของผู้ประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐต้องทำความเข้าใจแก่ประชาชนเป็นลำดับแรก มิฉะนั้นจะเกิดการต่อต้านจากประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องการปรับแนวคิดในการดำเนินการของเจ้าของโครงการที่จะต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นหลักควบคู่กับการดำเนินกิจการที่สร้างผลกำไรให้กับประเทศอย่างมหาศาล และต้องสร้างความรับรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจถึงการบริการจัดการในระบบใหม่ รวมถึงสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าหากเกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยการบังคับใช้กฎหมายที่ควบคุมการดำเนินการตามรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ และควรมีหลักประกันในการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสมและพอเพียง อาทิเช่น การมีประกันภัยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว การต่อต้านของกลุ่มประชาชนก็จะมีน้อยลงไปทำให้เกิดโครงการใหม่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อ ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่ทำลายสภาพแวดล้อม.