การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ยังไม่ได้บรรจุวาระการพิจารณาทบทวนทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกิน 60% เป็น ต้องไม่เกิน 70%ตามมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ โดยมีรายงานเพียงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภในที่ประชุม และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พูดถึงความจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องกู้เต็มเพดาน พร้อมกับยกตัวอย่างหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สเปน มาเลเซีย โดยเฉพาะสหรัฐฯที่มีการขยายเพดานถึง 80 ครั้งในช่วงที่ประเทศมีวิกฤติ นายอาคม ยังให้สัมภาษณ์ว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เป็น 70% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) จากเดิมที่ 60% ต่อจีดีพี นั้น เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การคลังในการบริหารเศรษฐกิจในภาวะไม่ปกติ โดยการขยับเพดานหนี้สาธารณะขึ้นอีก 10% จะทำให้รัฐบาลมีช่องในการก่อหนี้เพิ่มได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท แต่ทั้งนี้การจะกู้เพิ่มหรือไม่นั้น ยังต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเศรษฐกิจขณะนั้น นายอาคม กล่าวว่า ยืนยันแม้รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม ก็ไม่มีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้ ซึ่งตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้สำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบรายจ่ายประจำปีในสัดส่วน 2.5%-4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ 65 ได้จัดสรรงบสำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ที่ 3.2% หรือ 1 แสนล้านบาทไว้แล้ว และจัดสรรเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาทสำหรับชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะมีการบริหารโครงสร้างหนี้ของรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อลดภาระในเรื่องของต้นทุนการกู้เงิน เช่น เงินกู้ก้อนไหนที่มีดอกเบี้ยสูง ก็จะใช้วิธีออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งเป็นการบริหารหนี้ให้มีความเหมาะสม นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังมีเงินกู้ จาก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีการวางกรอบวงเงินสำหรับใช้ในการแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 ไว้ที่ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่วงเงินอีก 3.6 แสนล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในปีงบประมาณ 65 ดังนั้น กรณีโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อ หรือ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ และจะเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ก็จะมาพิจารณาถึงความจำเป็นในการกู้เงินอีกครั้ง “การกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะในปี 2563 และปี 2564 กระโดดขึ้นมาและใกล้เคียง 60% โดยคาดการณ์ว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 58.96% ซึ่งตามปีงบประมาณถือว่ายังต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ที่ 60% แต่หากมีการกู้เงินจาก พ.ร.ก. อีก 3 แสนกว่าล้านบาทในปี 65 ก็จะทำให้หลุดกรอบที่ตั้งไว้ ดังนั้นจึงต้องขยับเพดานเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง” นายอาคม กล่าว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุดเพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงานและเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม5แสนล้านบาทที่อาจนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุดและทันการณ์ และออกมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงานและสร้างรายได้โดยเร็ว รวมทั้งการกู้เพิ่มอีก1ล้านล้านบาท คิดเป็น7%ของจีดีพี สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเจออยู่ อีกประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ คือ การกู้ตอนนี้แล้วใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจกลายเป็นจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในอีก 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเราไม่กู้ เพราะการกู้และการใส่เงินเข้าไปตอนนี้เป็นการขยายเศรษฐกิจ เพิ่มฐานภาษี และทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไปได้ ช่วยให้ภาระหนี้กลายเป็นลดลงในอนาคต เราเห็นด้วยกับการขยายเพดานหนี้ บนพื้นฐานที่กรอบการใช้เม็ดเงินอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดหารายได้ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นกัน