ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เปิดโครงการแก้หนี้ปี 2560 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 มีลูกหนี้ที่มีปัญหาเข้าร่วมโครงการแก้หนี้แล้ว 20,987 คน คิดเป็น 65,478 บัญชี มีภาระหนี้เงินต้น 4,993 ล้านบาท โดยเฉลี่ยเป็นหนี้ต่อราย 237,912 บาท ซึ่งคุณสมบัติจะต้องเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ เอ็นพีแอล หรือค้างชำระ 91-120 วันขึ้นไปประเภทบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนช่วงโควิด-19 ทำให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาอยู่เดิม ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้ แบ่งเป็นยาสูตร 1 จ่ายไม่ไหว จนต้องขอพักชำระหนี้ และยาสูตร 2 จ่ายเท่าที่ไหว โดยยิ่งชำระมากจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1-2% ซึ่งได้ขยายเวลาโครงการนี้ออกไปจนถึงสิ้นเดือน ธันวาคม 2564 จากเดิมหมดโครงการทั้งยาสูตร 1 และยาสูตร 2 ไปแล้วเมื่อเดือน มิถุนายน 2564 โดยจะมีลักษณะให้จ่ายเท่าที่ไหว ยิ่งชำระมากยังคงได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 1-2% เหมือนเดิม ทั้งนี้ ผลสรุปมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้คลินิกแก้หนี้ตามโครงการยาสูตร 1 และยาสูตร 2 แบ่งเป็นลูกหนี้จ่ายไม่ไหว ไม่สามารถชำระได้เลย ต้องเข้ายาสูตร 1 พักชำระหนี้ มีสัดส่วน 10% และยาสูตร 2 ลูกหนี้ที่ยังจ่ายอยู่ แต่จ่ายเท่าที่ไหว หรือชำระบางส่วนและมีบางรายเลือกชำระเต็มจำนวนเป็นลูกหนี้ส่วนใหญ่คิดเป็น 90% ทำให้เห็นว่าลูกหนี้มีความสามารถชำระหนี้อยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่านับตั้งแต่เกิดวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศระลอกสามที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงครึ่งหลังของปี 2564 ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564 โดยปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพี ที่เร่งขึ้นเร็วในช่วงวิกฤตนี้เกิดจาก 1. ความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากขาดหรือมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง รวมถึงการถูกเลิกจ้าง 2. รายได้ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็ว สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทย ณ ต้นปี 2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันกับปี 2563 ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา โดยประเภทของหนี้ครัวเรือนไทยประกอบไปด้วย สัดส่วนหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 47% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด อาทิ หนี้บ้านและรถยนต์ และสัดส่วนหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 35% อาทิ หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป รวมถึงหนี้เพื่อการศึกษา และส่วนที่เหลืออีก 18% เป็นหนี้รายย่อยเพื่อธุรกิจครัวเรือน ในขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วงและจากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังสาหัสเช่นนี้ แต่ตัวเลขที่ปรากฏนี้คือหนี้ในระบบ ยังมีหนี้นอกระบบที่ยังเป็นปัญหา รวมทั้งแอพพลิเคชั่นที่หลอกให้เงินกู้ออนไลน์ รวมทั้งปัญหาการหลอกลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะที่น่าตกใจคือการที่คนรุ่นใหม่หันมาลงทุนออนไลน์ในทางที่ผิด และเป็นหนี้จนบางคนคิดสั้นหันไปประกอบอาชญากรรม นี่คือปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมของสังคมไทยรอวันระเบิดออกมา