หากสถานการณ์ของวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมาย และไม่มีวิกฤติอื่นใดเข้ามากระทบ ภายในสิ้นปีนี้ ไทยจะสามารถฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งประเทศได้กว่า 90% ซึ่งจะทำให้การติดเชื้อรุนแรงและการเสียชีวิตลดลง นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อวิถีการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ แม้จะยังต้องตั้งการ์ดสูงกันต่อไปก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เดิมพันสำคัญคือ ดีเดย์เปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เพื่อเร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว แก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่าย แต่ถึงแม้จะมีความเสี่ยง ภาคเอกชนก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปกับรัฐบาล
ในขณะที่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นดีเดย์ที่จะเดินหน้ามาตรการของรัฐ โดยนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง เตรียมโอนเงินให้ประชาชนผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 รอบที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2564 จำนวน 1,500 บาท โดยประชาชนสามารถใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการ ยิ่งใช้ยิ่งได้ สั่งอาหารผ่าน Food Delivery Platform ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม เป็นต้นไป เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้นสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ New Normal และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระตุ้นเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในไตรมาสที่ 4 ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม ของปี 2564 ให้ขยายตัวมากขึ้นเป็นไป ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการช่วยเหลือบรรเทาภาระประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 โดยต้องการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไป
นายธนกร กล่าวว่า สำหรับมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ขณะนี้ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 38.9 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม รวม 76,480.9 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 24.18 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 65,881.5 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 33,509.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 32,371.9 ล้านบาท
2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 74,956 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,115 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 86 ล้านบาท
3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.53 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 7,852.8 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.12 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 545.6 ล้านบาท
ดังนั้น เดือนตุลาคม จะเป็นอีกเดือนสำคัญ เป็นตัวแปรชี้ชะตาประเทศไทยต่อสถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจ ไม่นับรวมปัจจัยทางการเมืองเดือนตุลาอาถรรพ์