ทวี สุรฤทธิกุล
เรียบร้อยโรงเรียนประยุทธ์ไปแล้วสำหรับพรรคพลังประชารัฐ
การโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้ไขให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และปรับจำนวน ส.ส.ในสัดส่วนระหว่างแบบเขตกับแบบบัญชีรายชื่อเป็น 400 คน กับ 100 คน เหมือนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งผิดจากที่ผู้เขียนคาดไว้ เพราะคิดว่าคณะผู้ปกครองชุดนี้อาจจะยังต้องการให้มีการเลือกตั้งแบบ “คะแนนไม่ตกน้ำ” ที่ใช้บัตรเพียงใบเดียว แล้วจัดสรรให้ได้ทั้ง ส.ส.แบบเขตกับแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้คงสภาพการเมืองแบบเดิม ๆ อย่างที่ได้อยู่กันมา ภายใต้ระบอบทหารที่เป็นมากว่า 7 ปีนี้ อย่างที่ผู้เขียนเรียกว่า “ทฤษฎีด้อยค่านักการเมือง” คือทำให้นักการเมืองดูแย่ ในขณะที่ส่งเสริมบทบาทของทหารให้ดูเป็นพระเอก ด้วยการที่จะปล่อยให้สภาพความวุ่นวายในสภานี้ยังคงดำเนินต่อไป เพื่อเป็นเหตุที่จะให้ทหารได้อ้างเอาการเข้าควบคุมระบบการเมืองแบบที่เป็นมานี้ว่า “ความสงบจบที่ลุงตู่”
มองเกมอย่างนี้แล้ว อาจจะพอจะทำให้คิดไปได้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้หวาดหวั่นอะไรในอนาคตของตนเอง จึงปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามทางของมันนั้นเสียก่อน ตั้งแต่ที่จัดการกับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า จนมาถึงการสั่งให้โหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้อาจจะเป็นไปด้วยความมั่นใจเป็นอย่างมากของพลเอกประยุทธ์ ที่เชื่อมั่นใน “ขุมกำลัง” ของตัวเอง
ตอนนี้ก็ต้องเดาใจพลเอกประยุทธ์ก่อนว่า ท่านคงต้องการจะ “คงสภาพ” การเมืองให้เป็นอยู่แบบนี้สักระยะ ดังจะเห็นจากว่าท่านไม่ได้แสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ในการประชุมพรรคพลังประชารัฐเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังคงเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมกับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคดังเดิม จะมีก็แต่การแต่งตั้งพลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องเลิฟอีกคนหนึ่งของพลเอกประวิตร ให้เป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีความสำคัญมากในเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าจะดูในช่วงเวลานี้ก็คงจะมีแค่การเลือกตั้ง อบต. ที่ กกต.กำหนดไว้แล้ว ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ปลายปีนี้ ซึ่งพลเอกวิญช์ไม่น่าจะเป็น “คนที่ใช่” ในการควบคุมการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นแบบนั้น
จึงต้องเดาใจพลเอกประยุทธ์ต่อไปอีกว่า เป็นไปได้พอสมควรที่พลเอกประยุทธ์อาจจะ “เท” พรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ได้ให้ราคาต่อพรรคพลังประชารัฐอะไรอีกแล้ว นั่นก็คืออาจจะปล่อยให้พรรคพลังประชารัฐค่อย ๆ ย่อยสลายไป หรือพังไปเอง แล้วก็จะมีพรรคอื่นเกิดขึ้นมาแทน พร้อมกับกลุ่มนักการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์และพลเอกประยุทธ์ “เห็นชอบ” ย้ายโอนเข้ามายังพรรคการเมืองใหม่นี้ก็ได้ เพราะมีหลายคนเชื่อว่าพรรคใหม่ของนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ให้นอมินีไปตั้งไว้ อาจจะมาเป็นตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐนั้นก็ได้ พร้อมกับที่ร่ำลือกันหนักมากในเวลานี้ว่า นายฉัตรชัยอาจจะมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายหลังจากที่เกษียณจากราชการในปลายเดือนนี้ เพื่อทำงานร่วมกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีก 1 ป.ที่ยังอยู่เคียงข้างพลเอกประยุทธ์ (ในขณะที่บางคนเชื่อว่า ป.ประวิตร กำลังจะตัดญาติกับ ป.ประยุทธ์ นี้แล้ว) โดยจะได้พิสูจน์ฝีมือในการเลือกตั้ง อบต.ที่กำลังจะมาถึง
การเลือกตั้ง อบต.ในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้นี่เองที่จะพิสูจน์ถึงความคงอยู่ของพรรคพลังประชารัฐ สิ่งแรกที่จะเห็นก็คือ พรรคพลังประชารัฐจะทุ่มเทกับการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง อบต.หรือไม่ แม้ว่าการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่จะไม่ลงสมัครในนามของพรรค แต่ก็มักจะมีการอิงแอบชื่อเสียงของพรรค หรือมีหลาย ๆ พรรคแอบไปอิงผู้สมัครหลาย ๆ คนนั้นด้วย ซึ่งถ้าหากว่าเป็นตามที่ผู้รู้บางท่านคาดเดา ซึ่งก็เดาว่าพรรคพลังประชารัฐในภาวะที่อยู่ในช่วงถดถอยนี้ จะไม่ทุมเทให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่าใดนัก ในขณะเดียวกันพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้อยู่ในสายตาหรือเป็นที่สนใจของนักการเมืองทั้งหลายต่อไปอีกแล้ว ดังนั้นบางทีเราอาจจะได้เห็น “การถ่ายเลือด” ออกจากพรรคพลังประชารัฐ แล้วไปเติบโตในพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะในพรรคใหม่ที่กระทรวงมหาดไทย เอ๊ย นายฉัตรชัยได้จัดตั้งไว้แล้วดังกล่าว
ภายหลังการเลือกตั้ง อบต. เราจะได้เห็น “การเมืองไทยในภาพใหม่” ที่มีการเปลี่ยนขั้วการเมืองกันอย่างอลหม่าน เพราะถ้ากลุ่มของพรรคใหม่เกิดได้จำนวนสมาชิก อบต.เข้ามามาก นั่นก็หมายถึงว่าพลเอกประยุทธ์ยังมีความขลังอยู่อีกมาก เพราะพรรคใหม่นี้น่าจะหนุนพลเอกประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปภายหลังการเลือกตั้งใหญ่ที่น่าจะมีตามมาหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นนี้ ที่รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยา ที่คาดกันว่าจะมีในตอนต้นปี 2565 (ที่เชื่อกันว่าเพื่อดูลาดเลาภายหลังจากการเลือกตั้ง อบต.นี้เสียก่อน) นี้ด้วย รวมถึงที่จะได้บริหารจัดการขุมกำลังต่าง ๆ เช่น ปรับฐานหัวคะแนนอันเป็นผลจากการเลือกตั้ง อบต. หรือเตรียมกวาดต้อนนักการเมืองต่าง ๆ เข้ามายังพรรคใหม่ ดังเช่นที่พรรคพลังประชารัฐก็เคยเดินเกมแบบนี้ในคราวเลือกตั้งปี 2562
แต่ถ้าเป็นไปในทางตรงกันข้าม เกิดการเลือกตั้ง อบต. เครือข่ายผู้เลือกตั้งของพรรคใหม่ได้จำนวน สมาชิกสภา อบต.ไม่ถล่มทลาย ก็อาจจะทำให้พลเอกประยุทธ์ต้องคิดหนัก (โดยเฉพาะที่จะตัดสินกันในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นเป็นสำคัญ) ว่าจะยังต่อสู้ในการขึ้นกุมบังเหียนรัฐบาลในสมัยหน้าหรือไม่ เพราะภายใต้กติกาบัตร 2 ใบของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขผ่านไปนี้ จำเป็นจะต้องได้เสียงจากพรรคใหญ่ให้ท่วมท้น หรือจะต้องทำให้ได้เหมือนกับที่ระบอบทักษิณเคยทำไว้ในช่วง พ.ศ. 2544 - 2548 นั้น
ผู้เขียนขอ “เดาผิด ๆ” อีกสักครั้งว่า อาการไม่ยี่หระต่อสิ่งใด ๆ ของพลเอกประยุทธ์ในช่วงนี้ อาจจะเป็นสัญญาณแก่พวกพ้องและบริวารว่า “ผมพอแล้ว” (ยังจำวาทะนี้ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2531 ได้หรือไม่) คือใครจะทำอะไรก็ทำไป อยากเลือกตั้ง อยากเป็นรัฐบาล ก็ทำกันไป แต่ตัวเขากำลังคิดที่จะลงจากหลังเสือให้สวยงาม ที่เป็นไปได้ว่าเขากำลังปล่อยให้เสือ(ที่หมายถึงนักการเมืองและทหารที่อยากมีอำนาจทั้งหลาย) “กัดกัน” ไปให้เละเทะ และเมื่อถึงเวลานั้นก็รีบกระโดดลงจากหลังเสือเสีย แล้วไปใช้ชีวิตที่เหลือในที่สงบและปลอดภัยต่อไป
“สุสานทหารเก่า” นั้นมีอยู่หลายแห่ง แต่พลเอกประยุทธ์คงมีทางเลือกไม่มาก