ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากระดับ 40.9 เป็น 39.6 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 11 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือน ต.ค.41 เป็นต้นมา สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 33.8 36.3 และ 48.6 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน ก.ค.ที่อยู่ในระดับ 35.3 38.0 และ 49.6 ตามลำดับ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้ง สะท้อนว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และ ในโลกว่า จะส่งผละกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ โดยต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ การแพร่ระบาดโควิดรอบที่ 4 ตลอดจนรัฐบาลจะมีการประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์เพิ่มเติมหรือไม่ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าขยายตัวดีขึ้นจากระดับที่คาดการณ์ไว้ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาที่คาดว่าขยายตัว 0 ถึง -2% มาอยู่ที่ขยายตัว 0 ถึง 2% ทั้งนี้สัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้เชื่อว่าจีดีพีปีนี้จะกลับมาเป็นบวกได้ หรือ อยู่ในกรอบ 0.8-1.2% โดยมาจากการที่โควิดคลายตัวลง และ ต้องไม่มีการล็อกดาวน์ซ้ำ เพราะสิ่งที่ประชาชน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ มีความกังวล คือ การล็อกดาวน์ และ ไม่สามารถเปิดเมืองได้ แต่หากรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่าง ๆ จะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในไตรมาส 4 นี้ ประมาณ 3.5-5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทย คือการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังจากที่ครม.มีมติให้เตรียมจัดการเลือกตั้ง อบต.ในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และพิจารณาจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และนายกเมืองพัทยาในลำดับถัดไปนั้น นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากมีการเลือกตั้งอบต. ผู้ว่าฯกทม. นายกเมืองพัทยา เบื้องต้นคาดว่า เศรษฐกิจไทย จะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยพื้นที่อบต.ละประมาณ 3-4 ล้านบาท ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. จะมีเงินสะพัดสูงกว่าแต่ละพื้นที่อบต. ทั้งนี้ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินว่าหากการเมืองมีการแข่งขันที่รุนแรง แข่งขันกันดุ จะส่งผลให้มีเงินสะพัดสูงเป็นพิเศษ ทั้งค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเดินตาม ทำป้ายหาเสียง และทำกิจกรรมอื่นๆ คาดว่า จะมีเงินสะพัดสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างมาก เป็นตัวกำหนดทิศทาง เหมือนเป็นการหยั่งท่าทีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในครั้งหน้า กระนั้นเราเห็นว่าหมุดหมายในการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจไทยนี้ ยังคงอยู่ภายใต้ปัจจัยของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดเป็นหลัก เพราะหากมีการแพร่ระบาดใหญ่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ก็อาจจะกระทบกับแผนการดังกล่าว รวมทั้งอาจต้องกลับไปสู่การล็อกดาวน์ซ้ำเติมเศรษฐกิจ ดังนั้นห้วงเวลานับจากนี้จนกว่าจะถึงปลายเดือนพฤศจิกายน จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญในการที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจในการประคับประคองไปสู่การขับเคลื่อนทางการเมือง และเศรษฐกิจ