นับถอยหลังเข้าสู่วันครบรอบ 15 รัฐประหาร 19 กันยายน โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข หรือ คปค. ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้นำ ภายหลังทำรัฐประหารแล้วไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่ตั้งรัฐบาลชั่วคราว หรือรัฐบาลขิงแก่ มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปีเพื่อดูแลการเลือกตั้ง รัฐประหารครั้งนั้นมีภาพของประชาชนที่นำดอกกุหลาบไปประดับไว้ที่ปลายกระบอกปืน สะท้อนเสียงเรียกร้องต้องการและชื่นชมทหารที่เข้ามาจัดการปัญหาผ่าทางตันความวุ่นวายทางการเมือง และครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกัน การรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่นำโดยคณะรักษความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พลิกธรรมเนียมทำรัฐประหารเองเป็นนายกรัฐมนตรีเองแถมอยู่บริหารจนครบเทอม แล้วยังกระโดดเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ ได้รับชัยชนะ โดยอยู่บริหารประเทศต่อเนื่องยาวนานมาเป็นปีที่ 7 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ถูกแรงเสียดทานจากรอบด้าน และถูกท้าทายอย่างหนักหน่วง จากทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน และมวลชนบนท้องถนน แต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องระคาย เท่ากับการเผชิญหน้ากับการเคลื่อนไหวโค่นล้มเขาออกจากตำแหน่ง จากกลไกของรัฐธรรมนูญ มาตรา170 (3) ที่กำหนดไว้ว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ เท่ากับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา ที่ต้องเผชิญกับสงครามคนกันเอง ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำปฏิวัติกระชับอำนาจตัวเอง ผ่านการปลดรัฐมนตรี 2 คนที่ถูกมองว่าเป็นหัวหอกในการโค่นล้มออกจากตำแหน่ง พร้อมกับแผนการเข้าไปยึดครองสัดส่วนการบริหารอำนาจภายในพรรคแกนนำหลักของรัฐบาล ท่ามกลางคลื่นใต้น้ำที่ไหวกระเพื่อม ตามหลักทฤษฎี ความอลวน Chao theory ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ต่างจิตประหวัดเกิดอาการหลอนรัฐประหาร จนออกมาตีปลาหน้าไซกันก่อนหน้านี้ ด้วยวันที่ 19 กันยายนนี้ มีนัดคาร์ม็อบครั้งใหญ่ที่แยกอโศก แต่กระนั้น การส่งสัญญาณสู้ไปกราบไปของนายทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้าวันดีเดย์ ก็ทำให้สถานการณ์การเมืองไทยยังอยู่ในช่วงเว้นระยะห่างจากการรัฐประหาร