รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สมุนไพรเป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่ได้มาจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ที่มนุษย์นำมาใช้เป็นยา และอาจมีการนำไปผสมกับสารอื่น ๆ ตามตำรับยา เพื่อประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรค บำรุงร่างกาย หรือใช้เป็นยาพิษ ปัจจุบันทั่วโลกพบว่ามีพืชสมุนไพรมากกว่า 1,800 ชนิด คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณมาต่างคุ้นเคยหรือรู้จักพืชสมุนไพรมานานไม่ต่ำกว่าพันปีแล้ว มีการใช้พืชสมุนไพรเป็นยารักษาโรค อาหารพื้นบ้าน เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และอื่น ๆ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้เข้ามายึดครองพื้นที่การรักษาโรคต่าง ๆ แทนที่สมุนไพร คนไทยสมัยใหม่โดยเฉพาะเด็กไทยรุ่นใหม่จึงมองข้ามคุณค่าและสรรพคุณของสมุนไพรไทยไปอย่างน่าเสียดาย คงไม่เกินจริงที่จะกล่าวว่า ‘สมุนไพรไทยถูกลืมและเลือนหายไปจากสังคม ชุมชน และครัวเรือนไทยมาเนิ่นนานทีเดียว’ การกลับมาของสมุนไพรไทยเริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อใดกัน !!! - ปี 2535 รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า “ให้มีการผสมผสานการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเข้ากับระบบรักษาสาธารณสุขของชุมชนอย่างเหมาะสม” - ปี 2549 โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ระบุให้มีการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุนไพรไทย - รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 55 และมาตรา 69 เขียนไว้ว่า มาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยเกิดประโยชน์สูงสุด มาตรา 69 ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และการสร้างนวัตกรรมยาสมุนไพร - พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย พ.ศ. 2562 กำหนดความหมายของคำว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สมุนไพร ยาแผนไทย ยาพัฒนาจากสมุนไพร และการแพทย์แผนไทย เอาไว้ด้วย นับตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่ การเข้าถึงการรักษาและการป้องกันการติดเชื้อด้วยยาต้านไวรัส ‘ฟาวิพิราเวียร์’ และวัคซีนนานาชนิดและบริษัทของคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็น “ทางมืด” การรักษาด้วยสมุนไพรกลายเป็นทางเลือกทางแห่งความหวังให้กับผู้ป่วยหลายคน และยังเป็นทางแห่งโอกาสใหม่ของสมุนไพรไทยให้กลับมามีที่ยืนบนสังคม ชุมชน และครัวเรือนไทย ก็ไม่น่าจะกล่าวเกินจริงเช่นกัน !!! พืชสมุนไพรไทยไม่ต่ำกว่า 14 ชนิด ที่มีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาและบรรเทาอาการติดเชื้อโควิด-19 และช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว ขมิ้นชัน ขิง มะขามป้อม กระเทียม สันพร้าหอม สายน้ำผึ้ง สมอพิเภก สมอไทย พลูคาว ตะไคร้ หูเสือ และกะเพรา ซึ่งฟ้าทะลายโจรเป็นตัวสมุนไพรที่กล่าวถึงกันมากที่สุด เพราะพบว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ปรับภูมิคุ้มกัน และต้านไวรัสโควิด-19 ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบให้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่มีอาการ !!! แต่ที่น่าห่วงใยคือ ประชาชนแห่ ‘กินฟ้าทะลายโจรดักโควิด-19’ ล่วงหน้า จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งให้ข้อมูลว่า “อย่ากิน ถ้ายังไม่ติด เพราะทำตับพังได้” ปรากฏการณ์ที่น่าจับตาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 เดินทางมาถึงจุดพีกสุดๆในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา พบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีราคาดีดขึ้นไปถึงกระปุกละเกือบสองร้อยบาท (แต่ก็ยังถูกกว่ายาฝรั่ง) จากที่เคยขายกันอยู่กระปุกละไม่เกินร้อยบาท และกว่าจะหาซื้อได้ก็ใช่ว่าจะง่าย ๆ นะครับ มีของปลอมหรือของที่ไม่ได้มาตรฐานวางขายเกลื่อนกลาด แต่เกือบทุกบ้านกลับมียาฟ้าทะลายโจรเก็บไว้ในตู้ยาประจำบ้าน ... วิกฤติโควิด-19 นี้ เบิกทางใหม่ให้กับสมุนไพรไทยแล้ว คนไทยทุกช่วงอายุรู้จักสมุนไพรไทยที่เป็น “ของดี หาง่าย ราคาไม่แพง และปลอดภัยกว่า” มากขึ้น ต่อจากนี้ไปสมุนไพรไทยจะผงาดอย่างไรต่อจนถึงเวทีสากลหรือไม่ คงต้องพึ่งพาหลายหน่วยงานทำงานร่วมกันทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา และการตลาด เพราะสมุนไพรไทยที่มีคุณค่าและสรรพคุณเจ๋ง ๆ ยังมีอีกหลายตัวครับท่าน !!!