สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โควิดสายพันธุ์เดลตา นอกจากจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ยังเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงนโยบายและมาตรการต่างๆในหลายประเทศ
กระทั่งสูตรการฉีดวัคซีนล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกการใช้วัคซีนแอสตราเซนเนเก 2 เข็มเนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่า 12 สัปดาห์ โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยอมรับว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ทำให้มีการปรับเป็นฉีดวัคซีนสูตรไขว้ SA คือเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และอีก 3 สัปดาห์มาฉีดเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนกา เพื่อให้ภูมิต้านทานโรคที่เกิดขึ้นเร็วกว่าการฉีดแอสตราฯ 2 เข็ม ที่ใช้เวลาห่างกันถึง 12 สัปดาห์ เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานโรคสูงเทียบเท่ากับการฉีดแอสตราฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาที่สั้นกว่าเพื่อเร่งสร้างภูมิต้านทานให้ประชาชน
ขณะที่ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงประเด็นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกระตุ้นเป็นเข็มที่3 เรื่อง “โควิด- 19 วัคซีน การกระตุ้นเข็ม 3” มีเนื้อหาระบุว่า
“เราบุกเบิกและให้ข้อมูลการฉีดวัคซีนไขว้ ที่มีการกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี ในทำนองเดียวกันการกระตุ้นเข็มสาม ด้วยวัคซีนต่างชนิด ก็มีผลในการกระตุ้นที่ดีมาก
วัคซีนเชื้อตายจะเป็นวัคซีนปูพื้นหรือรองพื้น แล้วใช้วัคซีนอื่นมาแต่ง เราจะเห็นว่าการให้วัคซีน 2 เข็ม ตั้งแต่เชื้อตาย virus Vector และ mRNA
เชื้อตายภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 100 หน่วย ไวรัสเวกเตอร์จะอยู่ที่ประมาณเกือบ 1,000 หน่วย mRNA จะอยู่ที่ 1,700 หน่วยเมื่อกระตุ้นเข็ม 3 ในผู้ที่ได้วัคซีนเชื้อตายมาก่อน 2 ครั้ง ภูมิคุ้มกันจะกระตุ้นขึ้นสูงอย่างมากไม่ว่าจะเป็นไวรัส Vector หรือ mRNA การศึกษาของเราระดับภูมิที่สูงมาก สามารถขัดขวางไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้เป็นอย่างดี (ไม่ได้แสดงในที่นี้)
อย่างไรก็ตามการได้วัคซีนครบ 2 ครั้งตามกำหนด ก็สามารถลดความรุนแรงของโรคลงได้ลดอัตราการเสียชีวิต ลดการนอนในหอผู้ป่วยวิกฤต และเกือบทุกชนิด ในอนาคตคงต้องมีการกระตุ้นครั้งที่ 3 พรุ่งนี้ จะแสดงผลการฉีดวัคซีน แล้วติดเชื้อ ภูมิต้านทานขึ้นสูงมากมาก เมื่อเปรียบเทียบ กับการติดเชื้อโดยไม่ได้ฉีดวัคซีน”
เราเห็นว่าในสถานการณ์ที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตลอดเวลา ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงมาตรการและนโยบายต่างๆเพื่อให้สอดรับและก้าวทันโรค ย่อมจะตามมาอีกมาก ดังนั้นการสื่อสารเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนเพื่อป้องกันความสับสนและความเข้าใจผิด รวมทั้งความพยานามของบางกลุ่มที่มีเจตนาแอบแฝงแสวงหาประโยชน์จากสถานการณ์ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องทำงานได้อย่างสบายใจ มีสมาธิในการทำงานโดยไม่ต้องกังวลใจกับการนั่งอธิบายให้กับสังคม