แสงไทย เค้าภูไทย
การเมืองมาถึงจุดเปลี่ยน การแตกหักระหว่างนายกรัฐมนตรีกับเลขาฯพปชร.หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯขาดเสียงสนับสนุน เสนอกฎหมายอะไรเสี่ยงถูกตีตก
โดยเฉพาะกฎหมายการเงินหลายฉบับ เพื่อบริหารและฟื้นฟูเศรษฐกิจเยียวยาประเทศที่โดนพิษโควิด-19 เล่นงาน
แม้ความคืบหน้าหลังการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากรมช.เกษตรและสหกรณ์ จะยังมีแค่การปรับความเข้าใจกันระหว่าง “3 ป.” แต่ก็มีการมองไกลไปถึงว่า อาจจะมีการยุบสภาและเลือกตั้งใน 7 เดือนข้างหน้า
เหตุก็คือ เดดล็อกในพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ที่แตกเป็น 3 ก๊ก โดยก๊ก ร.อ.ธรรมนัส ใหญ่ที่สุด
ทั้งนี้เป็นไปตามที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า จะไม่เปลี่ยนโครงสร้างพรรค ไม่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งใดๆในพรรค
แช่แข็งทุกอย่างไว้ตามเดิม โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัส ที่จะถูกปล่อยไปเป็นเสือเข้าป่ามิได้
ตำแหน่งเลขาธิการพรรค จึงยังเป็นของ ร.อ.ธรรมนัส อยู่เช่นเดียวกันกับเหรัญญิกพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ถูกปลดจากรมช.แรงงานพร้อมกับ ร.อ.ธรรมนัส
เงื่อนตายหรือเดดล็อกนี้ ย่อมสร้างความอึดอัดขัดข้องไปเสียทุกด้าน ให้แก่พลเอกประยุทธ์ เป็นอย่างยิ่ง
ความหุนหันพลันแล่น เจ้าทิฐิ ดึงดัน มุ่งแต่เอาชนะ ฉุนเฉียว ชอบตอบโต้ สวนทันควัน เช่นพลเอกประยุทธ์ อาจจะ ทำให้เกิดปมขมวดเข้าเช่นนี้
และหากเป็นไปตามที่เชื่อกันว่า พลเอกประยุทธ์ จะยังเคียดแค้น ร.อ.ธรามนัส จะตามล้างตามผลาญไม่เลิกรา
ก็จะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ถูกวางกับดัก ก็จะกลายเป็นปลาตายน้ำตื้น
มีผู้แนะทางเลือกให้พลเอกประยุทธ์ 2 แนวทาง คือยุบสภา กับลาออก โดยให้พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
แต่คงไม่ง่าย เพราะพลเอกอนุพงษ์ ไม่ได้อยู่ในรายชื่อเสนอเป็นนายกฯมาก่อน และแม้จะแก้ไขประเด็นนี้ได้ ก็ยังจะมีปัญหาตอนซาวเสียงเลือกตัวนายกฯในสภา
ส.ว. 250 เสียง คงไม่เต็ม 100 เหมือนครั้งโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์
เท่าที่ผ่านมา การโหวตหลายมติ พบว่า เสียงของ ส.ว. หายไปราว 45-50 เสียง
หรือถ้าเลือกยุบสภา ก็อาจจะดีที่พลเอกประยุทธ์ ได้ลงจากหลังเสืออย่างสง่าผ่าเผย
แต่ถ้าหากยังดึงดันจะกลับมาใหม่ก็คงจะเข็นครกขึ้นภูเขา
เพราะพรรคที่หนุนหลังคือพปชร.ไม่เป็นปึกแผ่นอีกแล้ว เสียงในมือพลเอกประยุทธมีราว25 เสียงเท่านั้น
ที่แตกกัน 3 ก๊ก แต่ละก๊กมีเสียง ส.ส.ในมือก๊กละ 25-30 คน โดยก๊กของร.อ.ธรรมนัส มีจำนวนเสียงมากที่สุด 30-40 คน
หากเลือกตั้งใหม่ ร.อ.ธรรมมนัส ก็คงไม่อยู่เป็นเสาหลักค้ำพรรคเหมือนก่อน
โดยเฉพาะกติกาบัตร 2 ใบ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ที่จะทำให้พรรคอันดับ 1-2-3-4 จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเปลี่ยนตำแหน่งกัน
พปชร.คงไม่อยู่อันดับต้นๆเหมือนก่อน เว้นเสียแต่จะมีพรรคใหม่มาแทนหรือมาเสริม
พรรคใหม่ คงทำได้ไม่มาก เพราะผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำศรัทธาประชาชน ถดถอย
แม้จะแจกเงินช่วยเหลือเยียวยา โควิด-19 นับหมื่นๆล้านบาท เข้าข่ายประชานิยม แต่ประชาคงจะนิยมพลเอกประยุทธ์ไม่มาก
เข้าข่ายความนิยมถดถอย เหตุความเชื่อมั่นด้านบริหารเศรษฐกิจลดลงต่ำสุดนับแต่ยุค คสช.เป็นต้นมา
ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคตรงกันข้าม คงหยิบผลงานรัฐบาลเก่ามาโจมตีกันยับเยิน
อยู่นาน มีโอกาสทำผลงานได้มาก ย่อมจะได้เปรียบฝ่ายค้าน
แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ยิ่งอยู่นาน ผลงานยิ่งด้อย กลายเป็นติดลบ
อย่างเช่นกรณีแก้ปัญหาโควิด-19 หรือการคอร์รัปชันในวงราชการ การก่อหนี้ภาครัฐและหนี้ครัวเรือนสูงสุดในประวัติศาสตร์เป็นต้น
สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน จะมีหลายพรรคแทงกั๊ก ดังเห็นจากคะแนนลงมติไม่ไว้วางใจ ที่พลเอกประยุทธ์ ได้รับการไว้วางใจต่ำรองบ๊วย
จึงยิ่งอยู่นาน ยิ่งมีตัวแปรเพิ่มขึ้น พร้อมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
โอกาสที่พลเอกประยุทธ์จะไปแล้วกลับมาจึงค่อนข้างยาก
ถ้าเป็นเช่นนั้น หากยังคิดจะเป็นนายกฯอยู่ ก็จำเป็นจะต้องตื๊ออยู่ ลากกันถูลู่ถูกังไปอย่างนี้ ปกป้องจุดอ่อนของตัวเองไว้คือด้านสภา
เพราะการเป็นรัฐบาล แต่ไม่สามารถคุมเสียง ส.ส.ในสภา และไม่มีเสียง ส.ส. ในมือย่อมเป็นความเสี่ยงยิ่งยวด
เท่าที่ผ่านมาก็ได้อาศัยกลไกของ ร.อ.ธรรมนัส ให้การสนับสนุน
แต่ตอนนี้ ร.อ.ธรรมนัส ถูกตัดเยื่อใย แม้จะพายามลาออก แต่กลับถูกตอบโต้ หยาบหยามให้เป็นการถูกปลดออก
เจ็บแค้นขนาดนี้ ยังจะดีด้วยหรือ
จึงอย่าเผลอก็แล้วกัน เสนอกฎหมายอะไรเข้าไป ย่อมจะเสี่ยง ถูกตีตก โทษถึงขั้นนายกฯต้องลาออกหรือยุบสภา
เมื่อไม่สามารถเสนอกฎหมายสำคัญๆได้ โดยเฉพาะด้านการเงินที่ยังต้องเสนอเข้าสภาอีกหลายฉบับตามปกติ
ก็จะกลายเป็นรัฐบาลง่อย ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก
วันดี คืนดี ฝ่ายค้านหาเรื่อง หาประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นมาอย่างคราวนี้อีก
จะเอาตัวรอดได้ละหรือ ?