ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ MU หรือมิว กำลังเป็นที่จับตาทั่วโลก แม้จะมีการค้นพบครั้งแรกตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ที่สร้างความวิตกกังวลเมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์มิวเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจและน่าจับตามอง เนื่องจากสายพันธุ์ดังกล่าวมีการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการดื้อต่อวัคซีนในปัจจุบัน และได้รับการยืนยันว่าพบการระบาดแล้วในอย่างน้อย 39 ประเทศทั่วโลก นพ.แอนโทนี เฟาซี ที่ปรึกษาระดับสูงด้านโรคระบาดสหรัฐ กล่าวว่า เชื้อสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้ว่าสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและที่เกิดจากวัคซีนได้ อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูลทางคลินิกไม่มากนักโดยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการและสหรัฐให้ความสนใจเชื้อกลายพันธุ์มิวอย่างจริงจัง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามเร่งด่วน ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เชื้อสายพันธุ์มิวเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจหรือน่าจับตามองขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโคลอมเบียเปิดเผยว่าเชื้อกลายพันธุ์มิวได้ครองการระบาดในประเทศขณะนี้แล้ว สำหรับประเทศไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันได้มีการสุ่มตรวจแล้ว 13-15 ล้านตัวอย่าง และสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สุ่มตรวจหาสายพันธุ์ จำนวน 1,577 ตัวอย่าง พบว่าเป็นโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา 75 ตัวอย่าง เดลตา 1,417 ตัวอย่าง และอัลฟา 31 ตัวอย่าง ซึ่งภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้สายพันธุ์ที่พบในไทยยังคงเป็น 3 สายพันธุ์หลัก คือ อัลฟา เดลต้า และเบต้า โดย 93% เป็นสายพันธุ์เดลตา พบการติดเชื้อครบทุกจังหวัด ซึ่งในพื้นที่กทม.พบสายพันธุ์เดลตา 97.6% ส่วนสายพันธุ์เบต้า ยังคงจำกัดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 5.7% สัปดาห์ที่ผ่านมาพบในเขตสุขภาพที่ 12 นราธิวาส ปัตตานี ยะลา จำนวน 31 คน นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ขณะที่ทั่วโลกพบการกลายพันธุ์ของโควิด-19 นับ 100 สายพันธุ์ แต่องค์การอนามัยโลก ( WHO ) จัดลำดับการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ เฉพาะการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ ที่ทำให้แพร่โรคง่ายและต้านวัคซีน ส่วนสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง หรือน่าเป็นกังวล ยังคงมีเพียง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟาและเดลต้า แพร่เร็วหลบวัคซีนได้เล็กน้อย ส่วนเบตาและแกรมมา (บราซิล) หลบภูมิได้มากแต่อำนาจการแพร่เชื้อต่ำ ส่วนสายพันธุ์ C.1.2 และสายพันธุ์มิว ยังไม่ถูกจัดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล โดยสายพันธุ์ C.1.2 พบมากในแอฟริกาใต้ สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ และแพร่ง่ายในแอฟริกาใต้ ตรวจพบ 117 ตัวอย่าง แต่การระบาดส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา และสายพันธุ์นี้ยังไม่พบในไทย สำหรับสายพันธุ์ MU (B.1.621) นั้นพบว่ามีกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่น่าสนใจ กังวลการหลบหลีกภูมิคุ้มกันและดื้อวัคซีน โดยทั่วโลกยังพบน้อย พบมากสุดที่สหรัฐฯ 2,400 ตัวอย่าง โคลัมเบีย 965 ตัวอย่าง เม็กซิโก 367 ตัวอย่าง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลเพียงพอถึงการแพร่เชื้อเร็วขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้นหรือไม่ ส่วนการหลบภูมิต้านทาน และการต้านวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ ในภาพรวมจึงยังไม่น่าวิตกแต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด กระนั้น แม้ยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทย แต่ในสถานการณ์ประเทศไทยเตรียมเปิดประเทศในหลายพื้นที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ม่มาตรการในการสกัดกั้นและป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ไม่ให้หลุดรอดเข้ามาภายในประเทศทุกช่องทาง จำเป็นต้องดำเนินการอย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมสถานการณ์ที่กำลังจะโงหัวขึ้น ไม่ตื่นตูมแต่ตื่นตัว อย่าทำแบบวัวหายแล้วล้อมคอก