ทีมข่าวคิดลึก
ทันทีที่กลับถึงประเทศไทย "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ต้องตอบคำถามแก่สื่อมวลชนด้วยกันมากมายหลายประเด็นทั้งเรื่องราวการเมืองในบ้านเรา ไปจนถึงเหตุการรัฐประหารที่ประเทศตุรกี !
เหตุการณ์รัฐประหารที่ตุรกีโดยคณะกองทัพตุรกีที่ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 16 ก.ค. ก่อนที่ภารกิจรัฐประหารจะล้มเหลวเมื่อ บินาลี ยิลดิริม นายกรัฐมนตรีตุรกีและ "เรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน" ประธานาธิบดี เรียกร้องให้ประชาชน อย่ายินยอมส่งผลให้มีนายทหารถูกจับกว่า 1 พันนายทั่วประเทศ มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1 พันราย
แน่นอนว่า บิ๊กตู่ เองย่อมประเมินได้ว่า เหตุรัฐประหารที่เกิดขึ้นในตุรกีย่อมถูกโยงและนำมาเปรียบเทียบกับการรัฐประหารในประเทศไทย เช่นเดียวกันกับการเมืองที่ประเทศพม่า เมื่อฝ่ายกองทัพต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับ"ออง ซาน ซูจี" ในฐานะผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย NLD เมื่อชัยชนะของ ออง ซาน คือสัญลักษณ์ของการ "ปลดแอก" จากรัฐบาลทหาร
การหยิบยกเรื่องราวทางการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งไทย กับพม่า หรือระหว่างไทย กับรัฐประหารที่ประเทศตุรกีจึงเป็นเรื่อง ที่คสช.ยากจะหลีกเลี่ยง และพล.อ.ประยุทธ์ เองก็ไม่ต้องการ "แสดงความเห็น" ต่อประเด็นดังกล่าว เพื่อเลี่ยงการถูกนำไปใช้ "ขยายผล" นอกจากพูดระบุถึงความปลอดภัยของคนไทยที่อยู่ในตุรกี และทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า "เอาประเทศเราให้รอดก่อน"
เพราะเวลานี้ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองในประเทศไทยก็ดูจะวุ่นวายและเข้มข้นมากขึ้นในทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดให้แต่ละฝ่ายได้มีโอกาส "พักหายใจ"ทั้งฝ่ายหนุน - ฝ่ายต้าน "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช." ซึ่งเตรียมประลองกำลังกันผ่าน "สนามประชามติ" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้
จากกระแสต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญได้แปรเปลี่ยนกลยุทธ์ เอาในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างชัดเจน เมื่อมีการเรียกร้องและกดดันให้ คสช. เปิดใจให้กว้าง เพื่อให้มีการแสดงความเห็น ผ่านกลุ่มนิสิต นักศึกษา โดยสอดคล้องกับท่าทีของ "พรรคเพื่อไทย" ที่พยายามพลิกกลับมาทำหน้าที่"ตัวเล่นหลัก" ให้กับขั้วอำนาจของ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงใกล้ถึงวันประชามติ หลังจากที่ คสช.ได้วางกรอบ"กระชับพื้นที่" ไปยัง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ข้อเรียกร้องจากคณะทูต 22 ประเทศประเทศจากสหภาพยุโรป (อียู) ต้องการให้รัฐบาลไทยจัดประชามติ "แบบเปิดกว้าง" ได้รับการขยายผลซ้ำจากแกนนำพรรคเพื่อไทยในทันที และจะยิ่งสร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลและ คสช.เป็นดาบสอง
หากนับจากนี้ จะมีรายการ "ประสานมือ" ระหว่างฝ่ายต้าน คสช.ที่อยู่ในประเทศ เคลื่อนไหวล้อไปกับ ท่าทีจากนานาประเทศ จนส่งผลให้ แม้ คสช.จะมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือ ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะหยิบมาใช้ในลักษณะที่เรียกว่า "ฟาดฟัน" ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด !
เมื่อ "ข้อจำกัด" ของ คสช. มีอยู่อย่างเห็นได้ชัด ก็อย่าได้แปลกใจ ที่จะเห็นว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. จะเร่ง "ออกอาวุธ"เพื่อหวังช่วงชิงกระแสเช่นกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว อยู่ดีๆ ทักษิณ คงไม่เลือกได้เผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อค่ำวันที่ 17 ก.ค.โดยใช้ความยาวเพียง 5 นาทีเพื่อพูดถึง เนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนกับเศรษฐกิจโลก ในจังหวะที่รัฐบาล ของพล.อ.ประยุทธ์ กำลังหาทางเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชน เพื่อหวังฉุดบรรยากาศในประเทศให้กลับมาเป็นแรงส่งไปถึงการตัดสินใจลงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้