สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง แต่ยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่น่าเป็นห่วง ส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องสูญเสียบุคคลที่ตนเองรักหรือสมาชิกในครอบครัวไป ซึ่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้อย่างมากและอาจเกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตในระยะยาวได้
เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส เผยแพร่บทสัมภาษณ์ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจากข้อมูลพบว่าเมื่อในครอบครัวมีผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ก็จะพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยพร้อมกัน หรือไม่ก็มีคนในครอบครัวบางคนเสียชีวิตจากโควิด ทำให้ผู้ที่ยังอยู่รู้สึกติดค้าง เหมือนจากไปโดยไม่ได้ร่ำลา ไม่ได้ไปส่ง ซึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขการจัดงานศพให้กับผู้เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เมื่อต้องสูญเสียคนที่รักนั้น วิธีการดูแลใจหรือการรับมือกับการสูญเสีย ไม่มีวิธีการใดที่ตายตัว เพราะคนเราต่างก็มีรูปแบบการแสดงออก ระดับความรุนแรง และระยะเวลาที่แสดงถึงความโศกเศร้าที่แตกต่างกัน แต่ละปัจจัยนั้นย่อมมีผลทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่คนเราต้องทำเหมือนกันคือการทำให้ตนเองสามารถผ่านพ้นจากช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ จึงอยากให้คิดเสียว่าตนเองยังเป็นที่รักและยังสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ หรือเมื่อหายป่วยแล้วยังสามารถกลับไปทำพิธีต่าง ๆ ให้กับผู้เสียชีวิตเมื่อภายหลังได้
กระนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำวิธีดูแลใจและการรับมือเมื่อต้องสูญเสียคนรักจากโรคโควิด-19 การเดินออกจากความเจ็บปวดในชีวิต อาจเริ่มจากการเผชิญหน้าและยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น จากนั้นสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวเราทั้งด้านบวกและด้านลบ และสุดท้ายหาทางแก้ไข เรียนรู้หรืออยู่ร่วมกับผลกระทบนั้น โดยต้องเริ่มจากตั้งสติและทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งการทำใจยอมรับแบบ 100% นั้น อาจจะยังไม่สามารถทำได้ในทันที ไม่ต้องกังวล ค่อย ๆ ให้เวลาตนเอง ยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น หลังจากการสูญเสีย ยอมให้ตนเองแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์เศร้า โกรธ เสียใจ ร้องไห้ ฯลฯ ให้เวลากับการแสดงออกนี้อย่างเต็มที่ ไม่จำกัดหรือกดดันตนเอง ระบายความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับคนที่ไว้ใจ การพูดคุย ระบายออกจะช่วยทำให้สิ่งที่ติดค้างในใจเบาลงนอกจากได้ระบายแล้วเรายังจะได้กำลังใจหรือมุมมองแนวคิดดี ๆ มาช่วยเสริมให้เราคลายโศกเศร้า สังเกตผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเอง หากมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจนรบกวนการใช้ชีวิต รบกวนการทำงาน เช่นนอนไม่หลับ ฝันร้าย กระวนกระวาย ร้องไห้ไม่หยุด อาจลางานสักพักหรือหยุดสิ่งที่ทำอยู่เพื่อให้ตนเองได้มีเวลารักษาความรู้สึกนี้ และปรับตัวกับอะไรใหม่ ๆ หลังการสูญเสีย เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้ หยุดโทษตนเองหรือคิดว่าตนเองต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียนั้นให้ลองค่อย ๆ คิดถึงสาเหตุที่แท้จริง คิดในหลาย ๆ มุม เพื่อให้เห็นความจริงในหลากหลายมิติ ดูแลตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ หลายครั้งพบว่าเมื่อคนเราพบกับความโศกเศร้ามักจะลืมสนใจ ใส่ใจดูแลตนเอง ทำให้ร่างกายเกิดความตึงเครียด ไม่สบาย ส่งผลกระทบต่อจิตใจที่กำลังตึงเครียดอยู่แล้ว ให้เพิ่มความตึงเครียดเข้าไปอีก
การดูแลทางร่างกาย เช่น การนอนให้เต็มอิ่ม การทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามหากิจกรรมต่าง ๆ ทำ เช่นการทำบุญ การสวดมนต์ สวดภาวนา การบริจาคสิ่งของ การปลูกต้นไม้หรืออื่น ๆ เพื่อเป็นการแสดงการระลึกถึงผู้เสียชีวิต การทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ดี ๆ ที่ได้ทำร่วมกันมา เพื่อให้ตนเองไม่อยู่นิ่งและจมกับความโศกเศร้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้อารมณ์เราดีขึ้น ให้กำลังใจผู้อื่นที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน จะช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น การแบ่งปันเรื่องราวของกันและกันก็ช่วยทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีช่องทางในการติดต่อเพื่อปรึกษาบรรเทาผลกระทบจากการสูญเสีย หากแต่เราคาดหวังว่า ข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดที่มีการเปิดเผยออกมาในแต่ละวัน จะบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงการดูแลทางด้านจิตใจของผู้ที่ต้องสูญเสียคนรักจากโควิดในเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆที่อาจจะส่งผลกระทบตามมา