ต่อเนื่องจากฉบับวานนี้ ได้นำเสนอบทความที่น่าสนใจเรื่อง“การสร้างสันติภาพไอร์แลนด์เหนือ” ของ ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ เที่ขียนเอาไว้ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเป็น ประโยชน์ที่ได้รับจะเป็นกระจกสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในบางแง่มุมของประเทศไทยได้บ้าง จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ดังนี้
“ในปี 1998 ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยสันติวิธี โดยร่วมลงนามในข้อตกลงสันติภาพ หรือ “Good Friday” โดยมีเนื้อหาหลักให้รัฐบาลอังกฤษถ่ายโอนอำนาจ (Devolution) ในการปกครองให้แก่คณะผู้บริหารและสภาของไอร์แลนด์เหนือซึ่งมีลักษณะเป็นการแบ่งสรรอำนาจ (Power-Sharing) ระหว่างพรรคการเมืองหลักของทั้งสองฝ่าย หลังจากนั้นมีการแบ่งอำนาจการบริหารในเขตไอร์แลนด์เหนือ และเริ่มมีการถ่ายโอนอำนาจเพื่อให้ไอร์แลนด์เหนือสามารถจัดการปกครองตนเองได้ ส่วนในระดับชุมชนให้มีการปฏิรูปหน่วยงานตำรวจ โดยให้ประกอบด้วยคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ในสัดส่วนที่เหมาะสม
Good Friday นี่เองทำให้กองกำลังไอริช IRA (Irish Republic Army) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการที่จะยุติความขัดแย้งกับชาวอังกฤษในไอร์แลนด์เหนือ และพร้อมที่จะดำเนินการรวมไอร์แลนด์ด้วยสันติวิธี ครั้งนั้นผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้กล่าวว่า การเจรจาระหว่างผู้แทนทางการเมืองของขบวนการ IRA กับตัวแทนของอังกฤษ และตัวแทนไอแลนด์จากกรุงดับลินจะช่วยฟื้นฟูแนวทางสันติภาพ และนำมาซึ่งการยุติความรุนแรง ขอให้ความเกลียดชังที่มีมาแต่เก่าก่อนเป็นเพียงเรื่องในอดีต ครั้งนี้นับว่าเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญที่จะนำไปสู่สันติภาพในไอร์แลนด์เหนือ ต่อมาเมื่อ 24 เมษายน 2006 แกนนำทางการเมืองจากพรรค D.U.P. (Democratic Unionist Party) ในไอร์แลนด์เหนือได้มีส่วนเข้าร่วมในการเจรจา เพื่อหาทางช่วยกันสร้างความสงบสุขแก่ไอร์แลนด์เหนือ
นอกจากนั้นวิทยากรที่ร่วมเสวนาเล่าว่า การสร้างขบวนการสันติภาพ จำเป็นต้องมีผู้นำที่มีความมุ่งมั่นกล้าหาญ มีความน่าเชื่อถือ บางครั้งเราต้องยอมรับความคลุมเครือที่สร้างสรรค์ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพ เดินหน้าไปได้ มองข้ามประเด็นต่างๆไปบ้าง เพื่อก้าวข้ามไป ข้อตกลง Good Friday ได้รับความยอมรับสาธารณชนทางตอนใต้ 94.4% และทางตอนเหนือ 70.1% (โทมัส คิส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ จากพรรค Fianna Faill) ความจำเป็นของกระบวนการสันติภาพ ได้ช่วยกระตุ้นกระบวนการทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักการเมืองเข้ามาจัดการปัญหาความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพ (คริสโตเฟอร์ แม็กจิมซี สมาชิกสภาที่ปรึกษาแห่งเมืองเบลฟาสต์ ไอแลนด์เหนือ) ซึ่งกระบวนการสันติภาพในบางครั้ง จำเป็นต้องเก็บข้อมูลบางอย่างเป็นความลับบ้าง แต่ไม่ต้องการพูดโกหกหรือพูดจริงเสมอไป แต่ต้องเอาข้อมูลทั้งหมดออกสู่สาธารณะเพื่อสร้างความไว้วางใจ และนำหลายเรื่อมาบันทึกไว้เป็นอุทาหรณ์ (อเล็กซ์ มาสกีย์ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมประจำสภาไอร์แลนด์เหนือ) นี่คือวิธีการหลายรูปแบบที่แต่ละฝ่ายได้ช่วยกันสร้างสันติภาพ
โดยเฉพาะไมเคิล คัลเบิร์ท อดีตสมาชิกไออาร์เอ ซึ่งเคยถูกทหารอังกฤษจับกุม และถูกจำคุกฐานฆ่าตำรวจนานถึง 16 ปี วันนี้หันหลังให้ความขัดแย้งมาใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาไมเคิล บอกว่า"ไม่มีใครลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลของตนเอง หากว่าเขาไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ การใช้อาวุธคือหนึ่งในวิธีการของเรา" ช่วงต่อสู้ทางอุดมการณ์ด้วยความรุนแรง อังกฤษไม่เคยหยิบยื่นข้อเสนอที่คาดหวังได้ เพราะผู้มีอำนาจมักคิดเสมอว่าจับคนเข้าคุกจะสามารถล้มล้างอุดมการณ์ทางการเมืองได้ นั่นเป็นความคิดที่ผิด แต่ผลการถูกจับเข้าคุกในครั้งนั้นทำให้เขาตระหนักว่าวิธีการต่อสู้แบบเดิมอาจไม่อาจบรรลุอุดมการณ์ทางการเมือง จึงต้องเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ นั่นคือการเดินเข้าสู่การสร้างสันติภาพ
สิ่งสำคัญที่ทำให้กระบวนการสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือประสบผลสำเร็จ เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเริ่มเบื่อหน่ายกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเริ่มตระหนักถึงปัญหารุนแรงต่างๆ เริ่มมีความเข้าใจถึงปัญหาผลกระทบของความขัดแย้ง เริ่มมีความไว้วางใจฝ่ายตรงข้ามเพราะได้มีโอกาสรับฟังความคิดต่อกัน มีการสร้างความเท่าเทียมให้ทุกฝ่ายทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และศาสนา ที่สำคัญรัฐบาลอังกฤษยอมขอโทษที่ได้กระทำผิดต่อประชาชน ซึ่งถือเป็นจุดที่ทำให้ ขบวนการ IRA (Irish Republic Army) เริ่มไว้ใจรัฐบาล จนยอมเข้ามามีส่วนร่วมสร้างกระบวนการสันติภาพ หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่โดยเลือกบุคคลเข้าไปร่างข้อตกลงร่วมกัน เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค มีการจัดตั้ง สภาชุมชนสัมพันธ์ เพื่อทำการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ขาดวิ่นมาอย่างยาวนาน
ดังนั้นการเปิดใจพูดคุย การช่วยเหลือของทุกๆฝ่าย และความจริงใจในการแก้ไขปัญหา จะนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การสร้างสันติภาพด้วยสันติวิธีแม้ไม่ง่ายนักแต่มันได้เกิดขึ้นแล้วในไอร์แลนด์เหนือ แล้วสังคมไทยคิดอย่างไรกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งยืดเยื้อในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งไม่ต่างอะไรกับไอแลนด์เหนือ สันติภาพที่เกิดขึ้นจากสันติวิธีน่าจะเป็นทางออกของสังคมไทยบนปลายด้ามขวาน”