ภาพของการต่อสู้ของมวลชนบนท้องถนน เพื่อเรียกร้องทางการเมือง นำไปสู้การใช้กำลังความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ทำให้มีความกังวลว่าสถานการณ์อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง ทำให้เกิดคำถามสถานการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายนี้ เลยจุดของการหันกลับไปสู่การปรองดองและสมานฉันท์มาไกลแล้วหรือยัง มีบทความที่น่าสนใจของ ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ เขียนเอาไว้ตั้งแต่ปี 2557 เรื่อง “การสร้างสันติภาพไอร์แลนด์เหนือ” ขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้งเพื่อเกร็ดประโยขน์ที่ได้รับจะเป็นกระจกสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในบางแง่มุมของประเทศไทยได้บ้าง จะขออนุญาตนำมาเผยแพร่ดังนี้ “เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 สถาบันพระปกเกล้า ได้เชิญผู้เขียนและนักวิชาการหลายๆท่านเข้าร่วมฟังและร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างสันติภาพไอร์แลนด์เหนือ กับคณะนักวิชาการจากไอร์แลนด์ นำโดย นายเลน ไวน์ ผู้อำนวยการโครงการระหว่างประเทศ เพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ นายโทมัส คิส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ จากพรรค Fianna Faill นายอเล็กซ์ มาสกีย์ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมประจำสภาไอร์แลนด์เหนือ นายแซมมี ดักลาส สมาชิกสภาไอร์แลนด์เหนือ (เบลฟาสต์ตะวันออก) พรรค DUP นายคริสโตเฟอร์ แม็กจิมซี สมาชิกสภาที่ปรึกษาแห่งเมืองเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ และนายไมเคิล คับเบิร์ด โฆษกองค์กร cloister ซึ่งได้ร่วมทำงานกับกลุ่มอดีตนักโทษการเมืองไอร์แลนด์เหนือ ทั้งหมดได้ร่วมกันบรรยายอธิบายความเป็นมาของปัญหาความขัดแย้งจนนำไปสู่ขบวนการสันติภาพเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมมาเล่าสู่กันฟังและได้เพิ่มเติมเนื้อหาเพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ไอร์แลนด์เหนือ เป็น 1 ใน 4 เขตการปกครองหลักของสหราชอาณาจักร (ได้แก่ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศไอร์แลนด์สามด้าน ประชากรดั้งเดิมเป็นชาวไอริชที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 16 ชาวอังกฤษและสก็อตแลนด์ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ เริ่มเคลื่อนย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์จำนวนมาก เป็นไปตามนโยบาย “Plantation of Ulster” ทำให้ชุมชนชาวไอริชเดิมรู้สึกว่าตนเองถูกเบียดขับออกจากพื้นที่ดินแดนของตน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความต้องการที่จะมีอิสระในการปกครองตนเองของชาวไอริชให้ปลอดจากการปกครองของอังกฤษก็เริ่มทวีความเข้มข้นและรุนแรงขึ้น กระทั่งถึงปี 1921 อังกฤษและไอร์แลนด์ได้มีการลงนามใน Government of Ireland Act ยินยอมให้แคว้นต่างๆบนเกาะไอร์แลนด์แยกตัวเป็นรัฐอิสระในครั้งนั้น มี 26 แคว้นได้แยกเป็น “รัฐอิสระไอร์แลนด์” ในขณะที่อีก 6 แคว้นที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์ ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเช่นเดิม แต่ใน Government of Ireland Act ได้อนุญาตให้ทั้ง 6 แคว้นมีรัฐสภาเป็นของตนเองในการปกครอง อย่างไรก็ตาม การแบ่งประเทศตาม Government of Ireland Act ในครั้งนี้ทำให้หลายๆแคว้นมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในไอร์แลนด์เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามสำหรับไอร์แลนด์เหนือที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มีประชากรนับถือศาสนาอยู่สองนิกายหลัก คือโปรเตสแตนท์ กับคาทอลิก และกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างศาสนาของสองนิกายตามมา นั่นคือระหว่างกลุ่ม Unionist ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนท์ ประมาณร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด กับกลุ่ม Nationalist ดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก ประมาณร้อยละ 40 โดยกลุ่ม Unionist ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษต่อไป แต่กลุ่ม Nationalist ต้องการแยกตัวเป็นอิสระออกจากการปกครองของอังกฤษเพื่อผนวกเข้ากับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ หลังจากนั้นไอร์แลนด์เหนือกลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งรุนแรงตามมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่ม Unionist ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์เหนือได้กุมอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานเกือบห้าสิบปี จนกระทั่งกลุ่ม Nationalist มีความรู้สึกว่าตนถูกกดขี่และกีดกันจากกลุ่ม Unionist จนไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จากรัฐบาลอังกฤษ กระทั้งแม้แต่การจัดสรรที่อยู่อาศัย การจ้างงาน การศึกษา การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆในสังคมตลอดจนการมีส่วนร่วมทางการเมือง ก็ถูกกีดกันเสมอมา และที่สำคัญกลัวว่าอัตลักษณ์ของกลุ่มตนจะถูกกลืนเลือนหายไปกับอีกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการประกอบศาสนกิจ กระทั่งในปี 1968 ได้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม เดินขบวนประท้วงของกลุ่ม Nationalist เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคทางสังคม ให้ผู้ปกครองและกลุ่ม Unionist ยุติการกดขี่ ยุติการกีดกันชาวคาทอลิก ในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ การเคลื่อนไหวประท้วงได้ขยายตัวเป็นความรุนแรง กลุ่ม Nationalist ได้จัดตั้ง กองกำลัง IRA (Irish Republic Army)เพื่อปกป้องตนและต่อสู้ตามอุดมการณ์ในการปกครองตนเอง มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังของทั้งสองฝ่าย ในครั้งนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “The Troubles” ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรุนแรง ความหวาดกลัว ที่ได้ขยายตัวเป็นวงกว้าง มีปัญหาตามมามากมาย ความเจ็บปวดที่ต้องสูญเสียสมาชิกของครอบครัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ประชาชนจำนวนมากมีอารมณ์แปรปรวน วิถีชีวิตของชุมชนทั้งที่อยู่อาศัย โรงเรียนถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนระหว่างสองนิกาย และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าสลายการชุมนุมได้ทำการตรวจค้นจับกุม ผู้ประท้วงอย่างไม่ลดละทำให้แนวร่วมของ IRA (Irish Republic Army) มีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จากหลายๆเหตุการณ์ได้นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจต่อกันระหว่างนักการเมืองจากพรรคฝ่าย Unionist และ พรรคฝ่าย Nationalist นับแต่นั้นมาความขัดแย้งของสองนิกายได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตไม่น้อยกว่า 3,600 ชีวิต และต่อร่างกายและจิตใจอีกหลายหมื่นคนในระยะเวลา 30 กว่าปี