เสรี พงศ์พิศ
FB Seri Phongphit
คนพิการจำนวนมากบอกว่า อย่าสงสารพวกเขา แต่ให้โอกาสพวกเขา ส่งเสริมสนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตนเอง ได้ประกอบอาชีพ เพราะความพิการทำให้มีข้อจำกัดก็จริง แต่ถ้าได้รับโอกาส ใจไม่พิการ มีความมุ่งมั่น ธรรมชาติให้สิ่งทดแทนมาอย่างพอเพียง เพื่อจะอยู่ไม่ใช่อย่างผู้แพ้ แต่คือผู้ชนะ ไม่ใช่เพียงในเกมกีฬา แต่ในชีวิต
ความสำเร็จสูงมากของนักกีฬาไทยในพาราลิมปิกเกมส์ที่โตเกียว 2020 ที่ได้เหรียญเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียคงมาจากความมุ่งมั่นของนักกีฬา ผู้ฝึกสอน การสนับสนุนของสมาคม ของเอกชน และของรัฐ
ข้อมูลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (31 ธ.ค.2563) ระบุว่าประเทศไทยมี "ผู้พิการ" อยู่ 2,076,313 คน แยกเป็นความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 1,032,455 คน หรือคิดเป็น 49.73% ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 391,785 คน หรือคิดเป็น 18.87% ความพิการทางการเห็น 191,020 คน หรือคิดเป็น 9.20% ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม 161,802 คน หรือคิดเป็น 7.79% ความพิการทางสติปัญญา 141,623 คน หรือคิดเป็น 6.82% ความพิการมากกว่า 1 ประเภท 124,092 คน หรือคิดเป็น 5.98% ออทิสติก 15,804 คน หรือคิดเป็น 0.76%
ผู้พิการส่วนใหญ่กว่า 1.1 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ วัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมากที่สุด กว่า 1.5 ล้านคน เป็นผู้พิการที่ได้รับการศึกษา แต่ในจำนวนนั้นก็มีสัดส่วนกว่า 61.70% ของจำนวนคนพิการทั้งหมด หรือราว 1.28 ล้านคนนั้น ที่จบการศึกษาในชั้นประถมศึกษาเท่านั้น
คงมีคำถามกับตัวเลขสถิติทางการที่อาจคลาดเคลื่อน น้อยกว่าความเป็นจริง คงมีอีกจำนวนหนึ่งที่ตกหล่น หรือ “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” และไม่อยู่ในบัญชีของผู้ได้รับทุน “คนพิการ” รายเดือนของอบต. เทศบาล ไม่เช่นนั้นคงไม่เห็น “คนพิการ” ที่ถูกทอดทิ้งที่แพร่กันไปทางโซเชียลมีเดีย หรือไม่มีการแจ้งเพราะไม่ทราบว่าพิการ เพราะความอับอาย ของครอบครัวญาติพี่น้อง โดยเฉพาะความพิการทางจิต ออทิสติก
สังคมไทยในอดีตที่ทุนทางสังคมยังมีมาก ผู้พิการได้รับการช่วยเหลือดูแลจากครอบครัว รัฐแทบไม่ได้ทำอะไร เมื่อสังคมเปลี่ยนไป แม้แต่ตัวเองก็ยังจะเอาตัวไม่รอด ผู้พิการกลายเป็น “ภาระ” กระนั้นก็ยังเห็นความรักความเสียสละของครอบครัวจำนวนมากที่ดูแลผู้พิการ ชุมชนหลายแห่งที่จัดระบบเพื่อช่วยเหลือเอื้ออาทร องค์กรสาธารณประโยชน์จำนวนมาก รวมทั้งภาคธุรกิจที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเกื้อกูล
ประเด็นใหญ่ในบ้านเราที่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร คือ การป้องกันความพิการ ซึ่งจะลดจำนวนคนพิการลงได้มาก ประการแรก ยังไม่มีงานวิจัยที่แยกแยะสาเหตุของความพิการต่างๆ อย่างชัดเจน เมื่อไม่รู้ที่มาสาเหตุ และไม่ตระหนักในความร้ายแรง ก็ไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันและรองรับ
สาเหตุความพิการก็พอรู้กันว่ามีอะไรบ้าง ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม เกิดระหว่างการตั้งครรภ์ ก่อนคลอดหลังคลอด แต่สาเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายและความพิการทางสมอง ไขสันหลังและแขนขา คือ อุบัติเหตุการจราจร อุบัติเหตุต่างๆ การถูกทำร้าย และจากการเจ็บป่วย
ประเทศไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนอันดับต้นๆ ของโลก เทียบอัตราประชากร ศูนย์ข้อมูลข้อสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติปี 2563 บอกว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนมีจำนวนผู้เสียชีวิต 7,265 คน บาดเจ็บ 55,237 คน ไม่มีข้อมูลว่าบาดเจ็บถึงพิการเท่าไร ร้อยละ 80 เกิดกับมอเตอร์ไซค์ และทราบกันดีว่า เกิดมากที่สุดระหว่างวันหยุดเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ส่วนใหญ่เป็นเพราะ “เมาแล้วขับ”
มีความพยายามรณรงค์ รวมทั้งนำเอาผู้พิการจากอุบัติเหตุมาสรุป “บทเรียน” แต่กระนั้นก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้ช่วยให้ลดจำนวนอุบัติเหตุและผู้พิการลง คงเป็นเพราะไม่ได้มองปัญหาแบบองค์รวม ไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่สัมพันธ์กันหมด ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน การศึกษา
ไม่ได้มีการพัฒนาจิตสำนึก ความรับผิดชอบ ความมีวินัยให้กับลูก เด็ก เยาวชน นักเรียนนักศึกษา ไม่ได้สร้างระบบคุณค่าที่ลงลึกไปถึงจิตวิญญาณ จึงอยู่แต่ที่สิ่งปรากฏภายนอก ผิวเผิน ฉาบฉวย เยาวชนขี่มอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียนหรือไปไหน จึงสวมหมวกกันน็อกเมื่อเห็นตำรวจเท่านั้น
เป็นเรื่องไม่ยากที่จะ “แก้ไข” “เยียวยา” คนพิการด้วยงบประมาณ แต่ยุงยากกว่ามากที่จะหาทางป้องกันความพิการ สร้างระบบการส่งเสริมสุขภาพของครอบครัว ของแม่ที่ตั้งครรภ์ ให้เกิดและเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม การป้องกันอุบัติเหตุตั้งแต่การสร้างระบบการส่งเสริมวินัยของคนในชาติ
เรื่องนี้ยากที่สุด เพราะบ้านเมืองนี้เหมือนมีแม่ปูที่สอนลูกให้เดินตรงๆ ไม่ได้ เพราะตนเองก็เดินไม่ตรง การเมืองไทย ระบบสังคมไทยทั้งราชการ เอกชน ดูแล้วไม่น่าจะมีความหวังที่จะเห็นความเจริญพัฒนา เพราะรากฐานชีวิตที่อ่อนแอ เต็มไปด้วยความหน้าซื่อใจคด ฉ้อฉล มือถือสากปากถือศีล
แต่ดูพาราลิมปิกเกมส์แล้วมีกำลังใจ ที่ได้เห็นคนพิการทางกาย แต่หัวใจเกินร้อย อดทนฝึกฝนมาเป็นปีๆ บางคนใช้วีลแชร์ ออกไปวิ่งซ้อมบนถนน หวุดหวิดถูกรถเฉี่ยวชนหลายครั้ง แต่ต้องทำเพราะที่ฝึกซ้อมและการสนับสนุนไม่เพียงพอ
นักกีฬาผู้พิการเหล่านี้เป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้คนในสังคมว่า ถ้ามุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ก็จะก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ได้ สามารถปรับตัวให้อยู่ได้เหมือน “คนปกติ” อื่นๆ เพราะจิตใจที่เข้มแข็งจนพัฒนาหาทาง “พึ่งตนเอง” ได้
พวกเขาไม่ใช่คนที่คอยแต่จะรับ แต่เป็นผู้ให้ ให้ความสุขแก่คนไทยในยามทุกข์เพราะโควิดนี้