แสงไทย เค้าภูไทย
การย้ายฐานการผลิตจากไทยของบริษัทญี่ปุ่นยังมีต่อเนื่อง ล่าสุดพานาโซนิค สุวินทวงศ์ ปิดโรงงานย้ายไปเวียดนาม
ญี่ปุ่นลงทุนด้านการผลิตนอกประเทศ 40% เป็นการลงทุนในไทยถึง 33%
นอกจากสร้างงานให้คนไทยแล้ว ยังเป็นห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่สำคัญด้วย
เพราะมิได้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอย่างเดียว หากแต่ ใช้เป็นฐานเพื่อการส่งออกด้วย
เหตุผลและแรงจูงใจในการย้ายฐานผลิตไปที่เวียดนามก็คือ ค่าจ้างแรงงานถูก มีคุณภาพ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี สิทธิประโยชน์ด้านจีเอสพีจากสหรัฐฯ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามสูง(กว่าไทย)
ที่สำคัญ เวียดนามเป็นสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP ( Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific PartnershipResearch) เช่นเดียวกันกับญี่ปุ่น
ต่างจากไทย ที่ไม่ยอมเข้าร่วม
ก่อนหน้านี้ โรงงานญี่ปุ่นในไทยย้ายไปเวียดนามแล้วกว่า 20 บริษัท
การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยนั้น เป็นการลงทุนด้านการผลิต ตั้งแต่ยานยนต์จนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
เหตุจูงใจในการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยก็คือค่าแรงถูก ทักษะฝีมือดี สิทธิส่งเสริมการลงทุน (BOI) สิ่งอำนวยความสะดวกมีครบ ตลาดส่งออกของไทยเป็นตลาดชั้นหนึ่งคือสหรัฐฯและยุโรป
แต่ตอนนี้ คุณสมบัติที่ดูดเงินทุนญี่ปุ่นมาลงในไทยกลายไปเป็นของเวียดนามทั้งหมด
การย้ายฐาน ย้ายทุนไปจากไทยของนักลงทุนญี่ปุ่นนี้ส่งผลกระทบถึงรายได้และอัตราเติบโตของจีดีพีอย่างรุนแรง
เพราะเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของไทยมีอยู่ 2 เครื่องเท่านั้น คือการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกหรือมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น
การย้ายฐานการผลิตและส่งออกจากไทยไปเวียดนาม ส่งผลให้จีดีพีของไทยหายไปถึง 0.6%
สำหรับเงื่อนไขเข้าร่วม CPTPP ที่ทำให้ไทยไม่เข้าร่วมก็คือการคุ้มครองพันธุ์พืชที่เกษตรกรไทยเข้าใจว่าไม่สามารถเก็บพันธุ์ไว้เพาะปลูกฤดูต่อไปได้กับสิทธิบัตรยา
แต่หลังจากสหรัฐฯถอนตัวไป ได้มีการแก้ไข ข้อตกลงที่เป็นอุปสรรคหลายข้อ โดยเฉพาะการเข้าถึงยา ที่สหรัฐมีบริษัทยักษ์ใหญ่ครองตลาดยามากที่สุดในโลก
ทำให้สหรัฐฯเตรียมกลับมาใหม่ในยุคประธานาธิบดี โจ ไบเดน
จึงมาถึงทางสองแพร่งให้เลือกเดิน ว่าจะเอาตลาดในมวลสมาชิก 12 ประเทศมูลค่าปีละกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทดี
หรือไม่เข้าร่วม แล้วปล่อยให้ทุนต่างชาติไหลออกแบบเลือดออกไม่หยุดดี ?