มีสัญญาณที่น่าสนใจจาก คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งที่ประชุม กกร. โดยนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมประจำเดือนกันยายน 2564 เปิดเผยว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มดีขึ้น และแผนการจัดหาวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจนนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคบางส่วนในเดือนกันยายน ทั้งนี้ หากสามารถเร่งจัดสรรและฉีดวัคซีนที่มีมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิมขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) Supply chain ของภาคการผลิตใน Bubble & Seal ต้องไม่หยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน และ 2) หากควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้นมาก ภาครัฐจะสามารถเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ทัน High Season ในช่วงปลายปี ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศให้คึกคักขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาแย่ลง เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด บางประเทศมีการกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ กิจกรรมการผลิตฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตามต้องติดตาม 3 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่องซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ 2) การขาดแคลนชิปที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหลายสินค้าอุตสาหกรรม และ 3) เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศ แผนการจัดหาวัคซีนและการฉีดที่มีประสิทธิภาพและไม่สับสน สามารถผลักดันให้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 2565 ที่ท้าทายขึ้น หน่วยงานภาครัฐประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะสามารถเติบโตได้ในช่วง 3-5% ซึ่งการเติบโตในระดับนี้ต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้ด้วยตัวเองโดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้ในภาวะที่คนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยภาครัฐจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังจากการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70-80% ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นสนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มี Multiplier กับเศรษฐกิจสูง อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (co-payment) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้นและเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น สำหรับข้อเสนอของ กกร. ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดหาและนำเข้ามาวัคซีนมาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญคือ ต้องดำเนินการให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสื่อสารให้ชัดเจน ไม่ให้สับสน และโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เห็นด้วยกับการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล และไม่ควรมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไป เพราะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่ควรใช้มาตรการ Bubble & Seal ร่วมกับการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เชิงรุก โดยใช้ศักยภาพของภาค เอกชนอย่างเต็มที่ในทางที่เสริมและไม่แย่งกัน เพื่อให้การป้องกันโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง 3,000-6,000 บาท เพราะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ช้อปดีมีคืน (ลดหย่อนภาษี) และกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนมาตรการระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามทางการค้า (Trade war) ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ (New s-Curve) โดยการลงทุนภาครัฐควรทำต่อเนื่องทั้งการลงทุนโดยรัฐเอง และการลงทุนแบบ PPP พร้อมสร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ รัฐควรเพิ่มงบประมาณสำหรับการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งในต่างประเทศมีสัดส่วนการค้ำประกันที่ทางการสนับสนุนสูงถึง 80-100% ของยอดสินเชื่อ ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้ำประกันเพียง 40% อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจตอนหนึ่ง โดยยืนยันว่า รัฐบาลเดินหน้าประเทศใน 120 วันตามที่เคยแถลงไว้ โดยได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของภูเก็ตแซนบ็อกซ์ และมีการขยายการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดโดยรอบ และคนในพื้นที่มีความพอใจและได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ โดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า แผนเปิดประเทศยังเป็นไปตามที่เคยระบุไว้คือ ในเดือนตุลาคมแต่ถ้าทำไม่ได้ก็ทำเป็นเซคเตอร์ไปก่อน การท่องเที่ยวไม่ว่าจะเปิดเท่าไหร่ก็ตาม หากยังมีการแพร่ระบาดนักท่องเที่ยวก็เข้ามาน้อยลงอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยยังเป็นเป้าหมายสำคัญการในการเดินทางมาท่องเที่ยว โดยนำเอาภูเก็ตเป็นแบบอย่าง พร้อมทั้งระบุว่าในช่วงสถานการณ์โควิดไม่มีประเทศไหนที่มีการขยายตัวเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนของรัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือมาโดยตลอดทั้ง การลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ กระนั้น เราหวังว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายเปิดประเทศ 120 วัน โดยที่ปัจจัยเรื่องของ “วัคซีน” ยังเป็นเรื่องสำคัญ หากวันใดที่ “วัคซีนเต็มแขน” คนไทย 50 ล้านคน เศรษฐกิจไทยจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ วิ่งหนีให้ทันโดมิโนล้มเศรษฐกิจไทย