ปรากฏการณ์พระมหาคนดังที่รวมตัวกันสอนธรรมะผ่านออนไลน์แบบถ่ายทอดสด ที่มีผู้ชมทะลุถึง 2 แสนกว่าคน ก็มีเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสม ขณะที่ก็มีความพยายามอธิบายว่าเป็นการสื่อสารให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น
ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ของการใช้วาทกรรมของส.ส.ในสภาฯ ที่มีการถ่ายทอดสด มีการด่าทอเพื่อเอาใจชาวเน็ต รวมไปถึงบทบาทในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่รายงานถ้อยคำหยาบคายต่างๆ ที่สังคมไม่ได้อะไรจากการนำเสนอในรูปแบบดังกล่าว
แม้จะมีความเห็นแย้งว่าเป็นกลวิธีในการอภิปรายที่ผู้แทนฯแต่ละคนนั้นมีเทคนิคเฉพาะตัว ให้มุ่งเน้นที่เนื้อหาสาระและประโยน์จากข้อมูลมากกว่า
และก็โยนบาปไปที่สื่อมวลชนว่าเหตุใดจึงไม่เลือกนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็ในเมื่อสื่อมวลชน (บางส่วน)เองก็ต้องจูงใจประชาชนเพื่อเรียกวิวเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เราต้องตระหนักว่า การพูดจาเสียดสี ด่าทอด้วยคำหยาบ เป็นเครื่องมือเล่นงานกันทางการเมืองในสภาฯ กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับการเมืองในยุคใหม่ ชักจูงให้คนที่ไม่พอใจ รู้สึกสะใจ เพื่อให้เข้าถึงคนฟัง คือประชาชน โดยเฉพาะในสังคมไทยช่วงสถานการณ์โควิด กระแสความสนใจทางการเมืองของผู้คนในโลกออนไลน์มีมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องการเข้าถึงคนในโลกออนไลน์
แต่ก็อาจจะไม่ได้ผลเสมอไป เพราะอาจถูกกระแสตีกลับไปที่ตัวผู้พูดเอง สำหรับคนที่เห็นตรงกันข้ามกันทางการเมือง และคนที่ไม่เห็นด้วยในการสร้างสังคมต่ำตม ไม่ต้องการมีผู้แทนหัวร้อนปากตลาด
ขณะที่ผู้ทักท้วงอีกว่า อย่ามองแต่ฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายเดียว เพราะมีการไปขุดเอาคลิปเก่าๆมาว่า ฝ่ายผู้บริหารประเทศ หรือแม่แต่ตัวผู้นำเอง ก็ยังไม่สามารถระงับอารมณ์ และไม่สามารถรักษาสัมมาวาจาได้
ฉะนั้นเราจึงไม่อาจดูดายและปล่อยให้ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นและสร้างความเคยชินจนกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองต่อไป จึงต้องช่วยกันลดวาทกรรมหยาบคาย ในการสื่อสารสาธารณะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. หรือข้าราชการการเมืองต่างๆ ต้องช่วยกันยกระดับการสื่อสารกันด้วยปัญญาในทุกช่องทาง
ที่แค่ยึดตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เรื่อง สัมมาวาจา 4 ละพูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบและเพ้อเจ้อ แม้จะเป็นเรื่องยากในทางการเมืองก็ตาม โดยเฉพาะข้อแรกนั้น ยากเต็มทน