ทองแถม นาถจำนง วันนี้มาชวนฟังเพลงในภาพยนตร์โทรทัศน์ของทรู เรื่อง “ศรีอโยธยา” กัน ผมชอบเพลงประกอบ ที่ประยุกต์เพลงไทยเดิมมาใช้ได้อย่างดี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเตือนไว้นานแล้วว่า ดนตรีคือสิ่งมีชีวิต อย่าไปบังคับให้เด็ก “ต้อง” ฟีงเพลงไทยเดิม แต่จะต้อง “ทำเพลงไทยเดิมให้มีชีวิต” ท่านสอนว่า “ความจริงดนตรีไทยนั้นเป็นสิ่งมีชีวิต และเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของคนไทยตลอดมา หากไปบังคับว่าคนไทยต้องฟังดนตรีไทย เพราะดนตรีไทยเป็นศิลปะของไทย หรือเป็นวัฒนธรรมของไทยแล้ว คนก็จะขยาด” “ศรีอโยธยา” เริ่มฉายตอนที่หนึ่งเมือคืนวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ปกติผมเป็นคนดูแต่ข่าวและสารคดี ส่วนภาคบันเทิงนั้น ส่องดูแค่ “แว้บ ๆ” (เพราะต้องเขียนทำงานเขียนหนังสือ) แต่คืนนั้นดูจนจบตอน อาจจะเพราะเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ช่วงกรุงแตก ผมจึงมีความสุขกับการดูชม (ละครรัก-ตลก ก็ไม่รู้จะดูไปทำไม เพราะเราแก่แล้ว ไม่ได้ว่าอะไรคนสร้างเขานะครับ แต่เพราะเราแก่ จึงไม่ดู) มาดู “ศรีอโยธยา” ก็ดูแบบคนแก่อีกนั่นแหละ สิ่งที่สะดุดใจประการแรกก็คือ “ทรู”แหวกกรอบเดิม ๆ ออกมาได้แล้ว ดูท่าว่าซีรีส์นี้น่าจะประสบความสำเร็จดี เมื่อ “ทรู” เริ่มจับทางถูกแล้ว ก็คงจะพัฒนาต่อไป “ประวัติศาสตร์” นั้น...ขายได้ (แบบมีคุณค่าด้วย) ดูหนังจีนหนังเกาหลีสิครับ พูดเรื่องหนัง,ละครแล้ว ก็นึกถึงเรื่อง “หนังสือ” หนังสือประวัติศาสตร์จีน (อย่างสามก๊ก) กลศึกจีน (อย่าง 36 กลยุทธ) พิมพ์ขายดิบขายดี แต่ประวัติศาสตร์ไทย กลยุทธไทยกลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อย่างหนังสือ “21 กลยุทธไทย” สิบห้าปี ได้พิมพ์แค่สองครั้ง (คนเขียนอธิบายคำราพิชัยสงครามไทยเล่มนี้คือผมเอง อาจจะเพราะคนเขียน...ไม่เก่ง จึงขายไม่ดี) สิ่งที่ประทับใจต่อมาคือ เรื่อง ภาพ การตัดต่อ มุมกล้อง รวมถึงดนตรีประกอบ เด่น ดี ต้องชม สำหรับภาพ ในตอนแรกนี้มีฉากเกวียนบันทุกกระสอบข้าวสารสองกระสอบ มันเป็นกระสอบยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีโรงงานทอกระสอบ จอหอ กันแล้วนะครับ แต่ก็ถือว่า พลาด “เล็กน้อย” เท่านั้น ส่วนบทภาพยนตร์นั้น ยังขัดหูอยู่บางตอน เช่น การใช้ราชาศัพท์ เช่น “ทรงเสด็จ” และก้อาจขัดใจ “นักโบราณคดี” เข้าบ้าง ดูจบตอนที่หนึ่ง ตอนนี้ปูพื้นเรื่องไว้สำหรับตอนต่อ ๆ ไปได้ดีนะครับ คือแสดงบุคลิกลักษณะของตัวละครไว้ค่อนข้างดีทีเดียว เช่น ตอนที่ “สิน -ยกกระบัตรเมืองตาก” นินทาพระยาพลเทพ (พูดลับหลังเขาเรียกนินทา ไม่ใช่หรือ) ทำนอง ไม้ใหญ่(ที่ไม่ดีต้องโค่นทิ้ง หมายถึงพระยาพลเทพ) แสดงนิสัยเด็ดขาดใจร้อน “หม่อมน้อย” ผู้สร้าง และน่าจะเป็นผู้เขียนบท ก็ให้ “ทองด้วง” แสดงความ “สุขุมใจเย็น” กว่า ฉากเล็ก ๆ แค่นี้ ก็เป็นการตีคามประวัติศาสตร์ตำนานของวีรบุรุษได้อย่างน่าสนใจแล้วนะครับ ย้อนกลับมาที่เรื่อง “ดดนตรีไทยเดิม” ม.ร.ว คึกฤทธิ๋ ปราโมช ท่านเขียนเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทย โดยพาดพิงยกเรื่องดนตรีไทยเป็นตัวอย่าง (“สยามรัฐหน้า 5” ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม 2515) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2515 มีงานสัมนาเรื่องเกี่ยวกับวิทยุและโทรทัศน์ มีการพูดกันถึงบทบาทของวิทยุโทรทัศน์ในการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย อาจารย์หม่อมก็เลยแสดงความคิดเห็นไว้ในคอลัมน์วันที่ 26 พฤษภาคม มีเนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้ “พูดถึงการส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ เรื่องนี้ได้มีการพูดกันมาก แต่อุปสรรคก็ปรากฏออกมาว่า ก็เมื่อคนฟังคนดูเขาไม่นิยมแล้ว จะทำอย่างไร ? จะไปบังคับให้คนหันมานิยมและสนใจในศิลปวัฒนธรรมไทย เพราะว่าสิ่งนั้นเป็นของไทยแต่อย่างเดียวนั้น เห็นจะไม่ได้ ซึ่งก็เป็นความจริงที่สุด การรักษา การส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยนั้น จะไปซัดให้เป็นภาระของวิทยุโทรทัศน์แต่อย่างเดียว เห็นจะไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำ และจะทำได้ก็เฉพาะศิลปะและวัฒนธรรมไทยที่มีความดีความงามอยู่ในตัวของมันเองจนสามารถจะเรียกร้องความสนใจและความนิยมจากคนทั่วไปได้เท่านั้น สิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอก็คือ อะไรก็ตามที่เป็นไทยแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องดีต้องประเสริฐเสมอไป คำพูดที่ท่านผู้มีเกียรติท่านหนึ่งได้กล่าวขึ้นในการสัมมนานั้น ประทับใจผมเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้กล่าวว่า ทุกวันนี้เราได้ให้ความศักดิ์สิทธิ์แก่ศิลปะและวัฒนธรรมไทยจนสิ่งเหล่านั้นได้กลายเป็นพระพุทธสิหิงค์ไปแล้ว จะเชิญออกมาให้ประชาชนได้นมัสการและสรงน้ำก็เฉพาะในเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น พอหมดสงกรานต์แล้วก็เชิญกลับเข้าพิพิธภัณฑ์ไม่พบเห็นกันอีกต่อไป การเน้นลงไปว่าสิ่งใดเป็นศิลปะ หรือเป็นวัฒนธรรมไทยและต้องส่งเสริมรักษาไว้เพราะเหตุว่าเป็นศิลปะและวัฒนธรรมนั้นเอง จะทำให้สิ่งนั้นยิ่งห่างไกลจากประชาชนออกไป ยกตัวอย่าง เช่น ดนตรีไทย ความจริงดนตรีไทยนั้นเป็นสิ่งมีชีวิต และเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของคนไทยตลอดมา หากไปบังคับว่าคนไทยต้องฟังดนตรีไทย เพราะดนตรีไทยเป็นศิลปะของไทย หรือเป็นวัฒนธรรมของไทยแล้ว คนก็จะขยาด ออกห่างดนตรีไทย บางคนอาจจะนึกไปว่าดนตรีไทยเป็นสิ่งที่อยู่เหนือสมองเหนือความเข้าใจของตน ดนตรีไทยก็จะร่วงโรยไปในที่สุด ดนตรีนั้นเป็นเครื่องจรุงใจอย่างหนึ่ง ถ้าทำอย่างไรให้ดนตรีไทยยังเป็นเครื่องจรุงใจคนไทยอยู่แล้ว ดนตรีไทยก็คงไม่สูญ ถ้าบังคับให้ฟัง หรือชักชวนให้ฟัง เพราะเหตุว่าดนตรีไทยเป็นศิลปะและวัฒนธรรมไทยแต่อย่างเดียวแล้ว ตามความเห็นของผมเอง ผมเห็นว่าสูญแน่ ศิลปะอื่น ๆ และวัฒนธรรมอื่น ๆ ก็อยู่ในลักษณะเช่นเดียว