ทวี สุรฤทธิกุล
“จุดเกรงใจ” ก็คล้าย “วิญญาณหลอน”
ผู้เขียนมาทำงานเป็นเลขานุการท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน พ.ศ. 2523 อันเป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยอยู่ในยุคของ “ความสมานฉันท์” อย่างน้อยก็เป็นความสมานฉันท์ระหว่างทหารกับนักการเมือง ที่มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 เป็นกติกาวางแนวทางไว้
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 เป็นแบบอย่างที่โดดเด่นของการเมืองไทย ที่ผู้เขียนเรียกว่า “การเมืองแบบจุดเกรงใจ” อันเกิดจากความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่อาจจะเรียกได้ว่า “รัฐธรรมนูญไร้น้ำใจ” เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่กีดกั้นข้าราชการไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับงานการเมือง ในขณะที่ฉบับ พ.ศ. 2521 ยกอำนาจกึ่งหนึ่งให้แก่ข้าราชการ โดยให้ไปใช้อำนาจที่เท่าเทียมกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในวุฒิสภา ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ”
ในช่วงที่รัฐธรรมนูญนี้กำลังประกาศใช้ก็มีนักการเมืองคืออดีต ส.ส.บางคนต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันมาก โดยการตั้งชื่อฉายาให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างสาดเสียเทเสีย บ้างก็เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับฟันเน่า บ้างก็เรียกว่าฉบับหมาเมิน ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลทหารในยุคนั้นก็จับคนที่พูดไปขังคุกอยู่ระยะหนึ่ง ก็ดูจะสงบไปอยู่สักพัก แต่อย่างไรนั้นเมื่อถึงคราวเลือกตั้งใน พ.ศ. 2522 ก็มีนักการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างคึกคักและคับคั่งเป็นปกติ โดยหลังเลือกตั้ง ส.ส.จำนวนมากก็ไปหนุนทหารให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้เขียนเคยแอบถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถึงความรู้สึกที่มีต่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 นี้ว่า ท่านมีความรู้สึกอย่างไร เพราะเห็นท่านเป็นนักประชาธิปไตยและต่อสู้ในเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากท่านว่า ประเทศไทยยังเกรงใจทหาร ที่เห็นสู้กันมาก็เอาชนะทหารไม่ได้แม้แต่ตัวท่านเอง ทหารเป็น “วิญญาณหลอน” คือถ้าใครกลัวก็จะขนหัวลุกไม่สบาย แต่ถ้าใครจุดธูปเทียนเคารพกราบไหว้ บางทีก็อาจจะ “ถูกหวย” หรืออย่างน้อยก็ไม่ถูกผีหลอก (ฮา)
พรรคกิจสังคมของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในช่วงนั้นอยู่ในกลุ่มที่ “ทหารไม่เอา” จึงต้องวางตัวเป็นฝ่ายค้านในระยะแรก แต่เมื่อทหารกลุ่มนั้นมีปัญหากับพวกทหารด้วยกัน ทหารพวกใหม่ที่ขึ้นมามีอำนาจก็มาขอให้พรรคกิจสังคมช่วยสนับสนุน “นายคนใหม่” คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งก็ได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาลอยู่ด้วยกันระยะหนึ่ง กระทั่งทหารเองนั้นก็เกิดลำเอียงหรือมีเสน่หากับนักการเมืองบางกลุ่มมากไป ที่สุดพรรคกิจสังคมก็ออกมาอยู่นอกรัฐบาลอีกครั้ง กระทั่งในปลายปี 2529 ที่รัฐบาลของพลเอกเปรมก็เริ่มมีปัญหาภายในระหว่างทหารกับนักการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาล อันนำมาสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี 2530 ที่พลเอกเปรมก็ขอยุติบทบาท ด้วยวาทกรรมที่ท่านพูดว่า “ป๋าพอแล้ว”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าท่านไม่เคยรังเกียจทหาร ตั้งแต่ที่ท่านเล่นการเมืองในยุคแรกๆ ก็เคยให้โอกาสกับรัฐบาลทหารในสมัยนั้นอยู่ช่วงหนึ่ง เช่นเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ในช่วงท้ายก็ดูเหมือนจะกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมา เมื่อท่านจอมพลไม่สามารถควบคุมกองทัพให้ “เป็นปกติสุข” ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขึ้นมามีอำนาจสืบแทน ก็ดูเหมือนว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะมีความเกรงใจนายทหารคนนี้มาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ “ในระดับสูง” (เช่นเดียวกับกรณีของความสัมพันธ์กับพลเอกเปรมที่กล่าวมาแล้วนั้น) รวมถึงในยุคที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)ยึดอำนาจใน พ.ศ. 2534 ก็เหมือนว่าท่านจะค่อนข้างเอนเอียง “เห็นอกเห็นใจ” ทหารเป็นพิเศษ แม้ว่าท่านจะเคยถูกลิ่วล้อของทหารกลุ่มนี้บุกมาข่มขู่ท่านในตอนกลางปี 2530 ซึ่งความสัมพันธ์กับทหารในแบบนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็อธิบายว่า เหมือนกับกรณีหนังหรือละครทีวีของไทยที่เป็นไปในแบบ “ตบจูบๆ” คือ พระเอกนางเอกนั้นเดี๋ยวก็รักกัน เดี๋ยวก็โกรธกัน แล้วก็กลับมารักกันอีก โดยที่ทหารก็คือ “พระเอก” ส่วนนักการเมืองอย่างท่านนั้นก็คือ “นางเอก”
เล่าเรื่องของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กับทัศนคติของท่านที่มีต่อทหาร ก็เพื่อที่จะเชื่อมโยงมาถึงการเมืองไทยในทุกวันนี้ว่า เรายังอยู่ในบรรยากาศของการเมืองที่ “เกรงใจทหาร” ไม่ใช่เพราะเพียงแค่ทหารมีอำนาจมาก มีกำลังอาวุธและกองทัพอันมหึมา และเป็นองค์กรเดียวที่สามารถทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐได้ในทุกครั้งอย่างง่ายดาย แต่เป็นเพราะเมื่อนำทหารไปเปรียบเทียบกับนักการเมืองแล้ว ทหารดูจะ “มีภาษี” เหนือกว่า หรือถ้าจะพูดด้วยทัศนะของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือ "น่าเชื่อถือ" หรือ “พึ่งได้” มากกว่า (แม้ว่าหลายๆ ครั้งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองก็ผิดหวังกับการหวังพึ่งทหารนั้นเช่นกัน)
ความรู้สึกเช่นนี้มีอยู่ในตัวคนไทยจำนวนมากแม้ในทุกวันนี้ ดังจะเห็นจากการลุกฮือขึ้นขับไล่นักการเมืองใน 2 ครั้งหลัง จนทหารต้องออกมาทำรัฐประหาร ร่วมกับความเห็นที่ยังเห็นว่ายังไม่ต้องมีการเลือกตั้งถ้ายังมีนักการเมือง “แย่ๆ” มาลงให้เลือก รวมถึงที่กลุ่มการเมืองในหลายภาคส่วนและกลุ่มประชาชนต่างๆ ก็ยังสนับสนุนทหารอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะเคยถูก “วิญญาณหลอน” มาเป็นระยะๆ
แต่ทหารก็ต้องระวังไว้บ้าง เพราะความเกรงใจก็มีลดน้อยถอยลงหรืออาจจะหมดไปได้ รวมทั้งผู้คนในทุกวันนี้ก็ “กลัวผี” น้อยลง จงรีบๆ ปฏิรูปประเทศให้สำเร็จเถิด จะเป็นพระคุณแก่คนไทยเป็นอย่างยิ่ง
ขอจุดธูปกราบขอร้องไว้ดังนี้แล