สำนักข่าว InfoQuest รายงานว่านายเจอโรม เฮเกลี ผู้นำทีมนักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท Swiss Reinsurance Company (SwissRe) ประกาศเตือนว่า เศรษฐกิจโลกอาจประสบปัญหาชะลอตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะของกลุ่มประเทศยากจน หากยังไม่มีการร่วมมือกันระดับโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยหากอุณหภูมิโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นเช่นในปัจจุบันต่อไป ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกอาจทรุดตัวลง 10% ภายในปี 2591 โดยประเทศในกลุ่มซีกโลกใต้จะได้รับผลกระทบมากกว่าซีกโลกเหนือ พร้อมกันนี้ยังรายงานว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสัญญาณเตือนฉุกเฉิน โดยคณะกรรมการด้านภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (UN) ออกโรงเตือนเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมว่า อุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2583 ขณะที่ข้อเขียนของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ระบุตอนหนึ่งถึงภาวะโลกร้อนว่า “เวลาผมไปพูดตามที่ต่างๆ คำถามมักจะมาว่าแล้วนโยบายไทยเป็นอย่างไรบ้าง ? คำตอบของผมคือยังไงไทยก็ต้องตามโลก หากเราฝืนโลก เราไม่ปรับเปลี่ยนหรือทำเชื่องช้า นักลงทุนก็หันหน้าหนี ซึ่งเรื่องนั้นฝ่ายนโยบายทราบดีอยู่แล้ว ผลจากโลกร้อนจะกระทบต่อ GDP หากเราทำน้อยวันนี้ วันหน้าเราจะเดือดร้อนหนัก ทั้งจากภัยพิบัติและจากมาตรการเศรษฐกิจการเงินโลก การรับมือโลกร้อนไปไกลกว่าที่ไทยเข้าใจ เรายังเน้นนโยบาย ลงทุนป้องกันซึ่งไม่รู้ได้ผลไหม เช่น เขื่อนกันคลื่น ในขณะที่โลกไปถึงขั้นระดับนโยบาย การเงิน พลังงาน ฯลฯ ที่รวมทุกส่วนมาด้วยกัน โลกร้อนจะเกี่ยวข้องกับขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างมาก ทั้งในระดับชาติ องค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงท้องถิ่นอันเป็นผู้ปฏิบัติ ยิ่งเราช้าเท่าใด โลกก็หนีเราไปไกลเท่านั้น ปี net zero ของไทยยังช้าเกินไป (2065-70) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในระดับเดียวกัน เช่น อินโดนีเซีย (2060) อินโดเป็นประเทศกำลังพัฒนา ประชากรมากกว่าไทยเกิน 3 เท่า ส่งออกฟอสซิลเยอะมาก โดยเฉพาะถ่านหินที่ปล่อย GHG สูง แต่ทำไมอินโดถึงกล้าประกาศปี net zero 2060 การเรียกร้องของภาคส่วนต่างๆ มีผลอย่างมากต่อการขยับปี net zero ของไทย แต่ต้องพูดกันบนพื้นฐานความเป็นจริง โดยเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่ในสถานภาพเดียวกัน บริษัทองค์กรต่างๆ มีส่วนสำคัญในการช่วยสู้โลกร้อน เช่น บริษัทใหญ่ในไทย 2 แห่งเข้าร่วมเครือข่าย Race to Net Zero และกล้าประกาศปี Net Zero เช่น ซีพีภาครัฐต้องนำหน้าโดยโชว์ให้เห็น กล้าประกาศ Net Zero ของอาคาร/หน่วยงาน ฯลฯ นำร่องโชว์คนอื่น เช่น ใช้รถไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าหมุนเวียน ฯลฯ โดยสรุปคือเราต้องเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องโลกร้อน เราต้องช่วยกันบอกกล่าวอธิบายว่าตอนนี้ไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่มันคือปากท้องเงินเดือนโบนัสอาชีพการงาน ผมเห็นด้วยกับนโยบายของไทย Climate Convergence = 3E (Environment, Economic, Energy) แต่ที่เป็นห่วง ก็เหมือนกับแทบทุกเรื่อง นโยบายมี สิ่งที่ตาเห็นจริงหาไม่ค่อยได้ วิกฤติหนนี้ใหญ่และยาวนานหลายสิบหรือนับร้อยปี มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในทุกวิกฤตมีโอกาส คนไปก่อนย่อมได้เปรียบ Floating Solar - พิพิธภัณฑ์ไร้ก๊าซเรือนกระจก - ร้านกาแฟ Zero Carbon Cafe - จุดชาร์จ EV ด้วยพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 100% - เรือวิจัยทะเลใช้พลังงานแสงแดด ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นคือบางส่วนที่คณะประมงทำเสร็จแล้ว โชว์ให้ดูบ่อยแล้ว และเราจะทำต่อไป ระบบนิเวศกักเก็บคาร์บอน การขยายพันธุ์หญ้าทะเลโดยใช้เทคนิคทันสมัย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบ IMTA ฯลฯ เพราะเราคงไม่ใช่แค่คอยบอกว่าปะการังกำลังฟอกขาวตาย ชาวบ้านจะเดือดร้อน เราต้องลงมือเพื่อช่วยทำให้เป็นตัวอย่างด้วย เพื่อยืนยันว่าโลกร้อนเกี่ยวกับทุกคนทุกองค์กร และทุกอย่างเป็นไปได้ หากคิดจะเอาจริงและลงมือทำครับ” ดังนั้น เมื่อเห็นภาพความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องตื่นตัว ตระหนักและเร่งลงมือทำในทุกวิถีทาง ทั้งในระดับนโยบายที่จับต้องได้ แผนปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ และความร่วมมือร่วมใจ อย่าไปมองว่าอีกตั้ง20 ปีข้างหน้า แต่มันเป็นเพียงแค่ 20 ปีข้างหน้า อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปอย่างเปล่าดาย ทิ้งสภาพแวดล้อมเลวร้ายไว้ให้ลูกหลาน