ทีมข่าวคิดลึก
ทันทีที่รายชื่อของบุคคลที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ปรากฏสู่สาธารณชน ได้เกิดปฏิกิริยาจากหลายต่อหลายฝ่ายตามมา ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาในทิศทางที่เป็นลบมากกว่าบวก
ล่าสุดทั้งคณะกรรมการสรรหากกต.และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาส่งรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็น กกต.เรียบร้อยแล้วประกอบด้วย เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, อิสสรีย์หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์,ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัดและหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติและ ประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี
ขณะที่ 2 รายชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ประกอบด้วย ฉัตรไชย จันทร์พลายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา
ทั้งนี้รายชื่อที่ถูกโฟกัสมากที่สุด คือ5 รายชื่อที่ผ่านด่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้ง เรืองวิทย์-ฐากรอิสรีย์-ชมพรรณ์ และประชา ว่าแทบไม่มีอะไรพลิกโผ หากแต่ถูกล็อกชื่อกันเอาไว้ตั้งแต่แรก และจากนี้กระบวนการขั้นตอนต่อ รายชื่อทั้ง 7 จะถูกส่งไปถึงมือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ผ่านการคัดเลือก ต่อไป
สำหรับฝ่ายการเมืองแล้วต้องยอมรับว่า ต่างโฟกัสไปยังประวัติความเป็นมาของบรรดาว่าที่ กกต.อย่างไม่ต้องสงสัยเนื่องจากบุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะมีผลที่จะทำให้เกิดส่วนได้ ส่วนเสียในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะ 7 กกต.ที่มาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือผู้ที่จะจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ รวมทั้งยังจะมีส่วนในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ไปจนถึงเขตการปกครองพิเศษทั้งพัทยาและกรุงเทพมหานคร
เสียงวิพากษ์วิจารณ์และปฏิกิริยาจากฝ่ายการเมือง เริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อพบว่ารายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาบางรายยังมีตำแหน่งที่เกี่ยวพันกับภารกิจในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะ ประชา ที่โดยคนของพรรคเพื่อไทยถล่มหนักมากที่สุด เนื่องจากเป็น อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด อยู่ในคณะทำงานของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยและเวลานี้ก็ยังไม่ลาออก
ทางฟากพรรคประชาธิปัตย์เอง ยังอดที่จะแสดงความแปลกใจ ปนเคลือบแคลงไม่ได้ว่า มีหลายคนที่ไม่เคยมีประวัติการทำงานเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมาก่อนเลย ยกเว้นประชา เพียงคนเดียว 7 เสือ กกต.ท้ายที่สุดแล้วกว่าที่เขาเหล่านี้จะผ่านด่าน กติกาใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่มาได้หรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม และแม้เมื่อได้เข้ามารับบท กกต.กันเรียบร้อยแล้วก็ตาม ยังต้องเผชิญกับงานใหญ่ งานหินที่กำลังรออยู่เบื้องหน้า นั่นคือการเลือกตั้งรอบหน้าที่ ซึ่งจะต้องใช้กฎกติกา มารยาทกันใหม่ภายใต้การต่อสู้ของฝ่ายการเมืองอันเข้มข้น โดยที่ยังไม่นับรวม "พรรคนอมินี"ซึ่งจะผุดขึ้นมาด้วยกันอีกหลายพรรค ล้วนแล้วแต่เป็น งานหิน ที่รอทดสอบ 7 เสือ กกต.ชุดใหม่ทั้งสิ้น !