แสงไทย เค้าภูไทย
คดีสนธิ ลิ้มทองกุล ติดคุก 20 ปีมีการเอาไปตีความลุกลามไปถึงคดีการเมืองอื่นๆว่าเป็นการสลายขั้ว “รีเซ็ต” แทนเซ็ตซีโร่ ที่แม้เป็นคดีฉ้อโกงตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ แต่มีคดีการเมืองโทษแรงกว่ารออยู่ข้างหน้ากว่าสิบคดี
คดีนี้ นักสังเกตการณ์การเมืองหลายคนบอกว่า เป็นการส่งสัญญาณไปถึงคดีการเมืองอื่นๆที่ศาลยังไม่ตัดสิน ที่แกนนำทุกขั้วไม่ว่าจะเป็นขั้วเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส.ที่ออกมาเคลื่อนไหว ใช้ความรุนแรง ละเมิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึง 2557 ตกเป็นจำเลย
ทุกคดีจะต้องปิดภายในรัฐบาลนี้
แกนนำตัวสำคัญๆอย่าง จตุพร พรหมพันธ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ สุเทพ เทือกสุบรรณและพวก พุทธะอิสระ พลตรีจำลอง ศรีเมือง กษิต ภิรมย์ ฯลฯ
และอีกหลายๆคนที่เป็นแกนนำระดับรองๆที่ได้รับการประกันตัวปล่อยตัวชั่วคราว จะไปนอกแต่ละครั้ง จะต้องเอาเงินสดหรือหลักทรัพย์มูลค่า 600,000 บาทไปวาง
แต่แกนนำบางคนก็ออกนอกไม่ได้ เพราะหลายคดีระวางโทษสูงถึงขั้นประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
สำหรับคดีที่ศาลฎีกาตัดสินจำคุกสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเวลา 20 ปีนั้น เป็นคดีผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในข้อ ทำรายงานประชุมกรรมการเท็จ เข้าข่ายปลอมแปลงเอกสารค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท ช่วง 29 เม.ย. 39-31 มี.ค.40
ช่วงนั้น เครือบริษัทเมเนเจอร์มีเดี่ยกรุ๊ป (มหาชน) ยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การกระทำในครั้งนั้น จึงอยู่ในขอบข่ายของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
กรรมการบริษัท 2 คนที่เป็นสตรีถูกตัดสินจำคุกในระวางโทษเดียวกัน
ก่อนจะถึงฎีกา เคยถามคนใกล้ชิดสนธิว่า คดีนี้มีสิทธิรอดไหม ได้รับคำตอบว่าไม่ สนธิเองทำใจไว้แล้วว่าติดแน่นอน
ถ้าคิดจะหนีไปนอก จะไปได้ไหม ?
คำตอบคือไม่ได้ เพราะ 2 ศาลแรก ตัดสินติดสินจำคุกแล้ว ยิ่งหลังศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก ได้ถูกนำไปฝากขังต้องนอนคุก 17 วันก่อนได้รับกาประกันตัวไป
การขออนุญาตไปนอกจึงเป็นเรื่องทำไม่ได้
หรือถ้าหนีได้จริงอย่างทักษิณ ชินวัตร ก็คงไปไม่ได้ไกล
เพราะความผิดนี้เป็นความผิดที่มีฐานความผิดตรงกันกับทุกประเทศ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
หนีไปอยู่ประเทศไหน เมื่อรัฐบาลไทยขอตัวให้ส่งกลับมารับโทษ รัฐบาลนั้นๆก็ต้องส่งตัวเขากลับมาไทยตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ต่างจากคดีทักษิณ ที่หลายประเทศไม่มีฐานความผิดตรงกับไทย
ที่ว่าสามีผู้มีตำแหน่งทางการเมืองลงนามอนุญาตให้ภรรยาไปทำนิติกรรมกับหน่วยงานราชการ(ประมูลซื้อที่ขายทอดตลาดของกระทรวงการคลัง) เป็นความผิดทางอาญา
ส่วนคดีที่เป็นการเมืองจริงๆของสนธิก็คือ คดี ผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คดี พ.ร.บ.ความมั่นคง คดีหมิ่นประมาท คดีก่อการร้าย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกานำม็อบยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดสนามบิน ปิดสภา
คู่กับสนธิก็คือพลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำม็อบใช้ชื่อกลุ่มพันธมิตรประชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)ในปี 2551
สนธิเป็นสื่อมวลชน ทำหนังสือพิมพ์และจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ชื่อเมืองไทยรายสัปดาห์เป็นรายการที่ได้รับความนิยมสูง เพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน
ต่อมาช่อง 9 ถอดรายการของสนธิออกด้วยข้อหาค้างชำระค่าสถานีเป็นจำนวนมาก
สนธิจึงจัดรายการสดแบบสัญจร “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” เริ่มที่หอประชุมเล็กและหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้เข้าชมมาก
ต่อมาย้ายไปจัดที่เวทีลีลาสสวนลุมพินี แฉโพยการคอรัปชั่นในรัฐบาลทักษิณ และดึงดูดมวลชนด้วยการโจมตีถึงการจ้าบจวงสถาบันกษัตริย์
ใช้คติพจน์ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” และ “ถวายคืนพระราชอำนาจ”
สนธิจับจุดอ่อนไหวของคนไทยในเรื่องในหลวงเช่นนี้ดี จึงทำให้มีผู้ติดตามเขาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการของเขานั้น มีผู้เข้าชมกว่า 150,000 คนต่อวัน
การต่อต้านทักษิณ จากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ลุกลามไปถึงการบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์ NBTV ยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดสภาผู้แทนราษฎร ยึดสนามบิน ฯลฯ
จนถึงที่สุดเกิดการรัฐประหาร กันยายน 2549
หลังรัฐประหาร 2549 พธม.ลดบทบาทลง
แต่รายการเอเอสทีวีและหนังสือพิมพ์ผู้จัดการของสนธิยังเคลื่อนไหวอยู่ด้วยสโลแกน “ยามเฝ้าแผ่นดิน”
แต่หลังการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร 2549 พรรคพลังประชาชนที่เป็นชื่อใหม่ของพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งกลับมาครองอำนาจอีกสนธิก็ออกมาเคลื่อนไหวใหม่
ทว่าม็อบ พธม.รยุคนี้ไม่ค่อยมีพลังมากนัก เพราะขาดกำลังหลักจากภาคใต้ที่เคยมาช่วยงานยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน
แม้แต่เสธ.อ้าย พยายามสืบทอด ออกมาเคลื่อนไหวหลายครั้ง แต่ก็เป็นม็อบฝ่อ จนหมดใจเรียกม็อบตัวเองว่าม็อบทอดผ้าป่า
จนเมื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ คนส่งกองกำลังตัวจริง ออกมาเคลื่อนไหวเองนั่นแหละ พธม.ถึงได้ฟื้นตัว
แต่เป็นในลักษณะพันธมิตรกับกปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)
เมื่อกองกำลังที่เคยแอบมาสนับสนุนพธม.มาลงสนามเอง จึงเกิดเป็นพลังมวลชนที่ยิ่งใหญ่มีผู้เข้าร่วมเรือนแสน
แต่เพราะการชุมนุมที่ยืดเยื้อเป็นเวลากว่า 7 เดือน เกิดความเหนื่อยล้า
ทุนรอนร่อยหรอ เพราะนายทุนใหญ่ๆทั้งในภาคใต้และในกรุงเทพฯ เริ่มท้อแท้กับลูกอึดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
มีการเปิดเผยว่า ต้องใช้เงินดูแลผู้เข้าร่วมชุมนุมวันละว่า 10 ล้านบาท และ 7 เดือนเศษ ใช้ไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท
ความท้อแท้เกิดขึ้นถึงขนาดออกปากว่าจะถอย หลังจากพยายามติดต่อกับ “ทหาร” ให้ช่วยทำรัฐประหาร แต่ทหารขอสงวนท่าที
ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร 22 พ ค 57 ยังมองไม่ออกว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร
มาถึงวันนี้ ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกขั้ว พากันติดคดีไปหมด
ถ้ารัฐบาลคสช.มีนโยบายปิดคดีทุกคดีภายในรัฐบาลนี้ คือก่อนเลือกตั้งปี 2560
ไม่จำเป็นต้องเซ็ตซีโร่ ไม่จำเป็นต้องรีเซ็ต
เมืองไทยจะเป็นเยี่ยงไร ?
คงจะเหงา เพราะไม่มีม็อบออกมาเพ่นพ่าน เหตุจากแกนนำติดคุกกันหมด