ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
“แวรุง ไปไหนๆๆๆๆ” คือคำทักทายที่กลายเป็นกระแสฮิตติดปากของวัยรุ่นชายแดนใต้เสียแล้วห้วงเวลานี้
คำว่า “แวรุง” เป็นสำเนียงมลายูถิ่น แปลว่า วัยรุ่น ส่วน “ไปไหน” เป็นการทักทาย บ่งบอกถึงความห่วงใยกัน เพจชื่อเดียวกันนี้ มีการนำเสนอคลิปเรื่องราวที่อยู่ในกระแส ผ่านศิลปะของการเล่าเรื่อง ดีไซน์ที่สวยเก๋ มุขตลก เปิ่นๆ แบบใสซื่อบริสุทธิ์ และเน้นย้ำชีวิตสโลว์ไลฟ์ (Slowlife) ชีวิตที่เราเป็นผู้กำหนด ธรรมชาติช่วยบำบัดร่างกาย กำกับ (Director) ผ่านเยาวชนนราธิวาส “เดอะ ยี” และมือกล้อง (Camera) “เดอะ ยัง” ภายใต้แนวคิด “เราคนในพื้นที่ คือคนที่จะสื่อความหมายได้ดีกว่า เพราะที่นี้คือบ้านเรา” ทั้งนี้ที่มาที่ไปของเพจ “แวรุง ไปไหน” เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์น่าสนใจเชิงข้อมูลข่าวสารผ่านระบบโลกโซเชียลของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาชิกเบื้องหลังในฐานะแอดมิน (Admin) คนสำคัญในการดูแลเพจ คือ “เดอะ ยี” นายบูคอรี อีซอ หนุ่มมาดเท่วัย 22 ปี บุคลิกมาดมั่นออกแนวเซอร์เล็กน้อย นักศึกษาปี 4 สาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ส่วนอีกคน “เดอะ ยัง” เป็นน้องชายสายเลือดเดียวกัน ชื่อจริงว่า นายอัมราน อีซอ เรียนปี 2 ในสาขาและคณะเดียวกัน
เดอะ ยี - บูคอรี อีซอ เล่าถึงที่มาที่ไปว่า ก่อนหน้านี้เพจนี้ใช้ชื่อเพียงคำว่า “แวรุง” ดำเนินมาตั้งแต่ตนเองเป็นนักศึกษาปี 1 กระทั่งขึ้นปี 4 เปลี่ยนเป็นชื่อ “แวรุง ไปไหน” เนื่องจากต้องทำโปรเจกต์จบการศึกษา จึงนำมาปรับปรุงเป็นเพจเน้นเรื่องการท่องเที่ยว ด้วยเชื่อว่าสถานที่ชายแดนใต้มีความสวยงามซุกซ่อนไว้ให้ค้นหาอยู่อีกมากมาย หรือเพื่อเชิญชวนแวรุงหรือวัยรุ่นในพื้นที่ออกไปทำกิจกรรมดีๆ สร้างมุมดีๆ ให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
“การสร้างภาพนั้นมีหลายมุมมองในการตีความ สำหรับเราแล้วอยากจะตีความหมายให้ว่า การสร้างมุมดีๆ เพื่อเผยแพร่เป็นแบบอย่าง เพราะเชื่อว่าหากผู้คนมีความสุข เราก็มีความสุข ผ่านการมอบรอยยิ้มให้แก่กัน สังคมจะได้น่าอยู่ขึ้น ถือเป็นการสร้างภาพดีดี” เดอะ ยี เล่าถึงแนวคิดสำคัญก่อนเรื่องราวต่างๆ จะถูกทยอยนำเสนออย่างต่อเนื่อง
จากการไล่เรียงเรื่องราวหน้าเพจ “แวรุง ไปไหน” พบว่า เพจนี้เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2016 และเริ่มอัพเดทรูปโปรไฟล์ รูปภาพหน้าปก เป็นครั้งแรก อันเสมือนจุดก่อเกิดของเพจที่จะดังเป็นพลุแตกในกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลาเพียงอีกไม่กี่เดือนต่อมา ตัวอย่างแค่หนึ่งวันถัดมาจากที่เริ่มสร้างเพจ ผู้ดูแลมีการอัพสเตตัสแรกกับคลิปวิดีโอเรื่อง “แวรุงแกแจะดืองาแฟง” หรือ “แวรุงพูดคุยกับแฟน” ปรากฏว่าถึงวันนี้มีคนแชร์ไปแล้ว 430 ครั้ง รับชม 26,000 ครั้ง กดไลท์ 756 ไลท์
อยากชวนแวรุง ไปเที่ยวอุโมงค์ป่าโกงกาง ยะหริ่ง อยากชวนแวรุง ไปเที่ยวนครยะลา ไปถ่ายภาพกับทุ่งปอเทือง อยากชวนแวรุง ไปกางเต็นท์นอนดูดาวที่แหลมตาชี อยากชวนแวรุง นัดกันตื่นเช้าไปปั่นจักรยานชมเมืองปัตตานี ดินแดนพหุวัฒนธรรม อยากชวนแวรุง ไปที่เดียวเที่ยวได้หลากหลายสไตล์ ตะโละกาโปร์ ตะโละสะมีแล แหลมตาชี อยากชวนแวรุง ไปเดินช็อปชิลๆ ชิคๆ ที่ตลาดเปิดใหม่ Green Maeket ปัตตานี อยากชวนแวรุง ไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว อยากชวนแวรุง ไปเที่ยวอ่าวมะนาว เขาตันหยง นราธิวาส อยากชวนแวรุงไปทริปดูหมอก ฆูนุงบาตูปูเตห์ (ผานับดาว) ล่องแก่งยาเด๊ะ จังหวัดนราธิวาส เหล่านี้คือตัวอย่างเรื่องราวที่ถูกนำเสนอในเพจ รวมถึงช่วงเดือนรอมฎอน มีการผลิตหนังสั้นชื่อ “หลง” หรือ เมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ “แวรุง ไปไหน” ได้ร่วมแจมไปกับกลุ่มสานฝัน ที่นัดรวมตัวกันออกไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ผลพวงต่อเนื่องจากกระแส “แวรุง ไปไหน” ทำให้ “เดอะ ยี” ผู้ดูแลเพจเขียนระบายความรู้สึกในเพจว่า วันนี้บอกได้เลยว่าอยู่กับสิ่งที่ชอบทุกๆ วัน มีความสุขมาก แม้วันเวลาในอดีตจะผ่านอะไรมาเยอะพอควรที่ทำให้ดูเหมือนเด็กเหลวไหล เป็นเด็กที่ติดเกมมากๆ ยุคนั้นอารมณ์หลังจากเรียนหรือเสาร์อาทิตย์คือขี่จักยานไปนั่งรอหน้าร้านเกม เป็นอะไรที่มีความสุขมากๆ แล้ว แต่นี่นับเป็นจุดเปลี่ยน มาเจอความฝันที่ลงมือทำอยู่ในปัจจุบัน
“วันนั้นจำได้ว่าเกมที่เล่นอยู่อัพเดทให้ใส่โลโก้แก๊งได้ เป็นจุดเริ่มที่ค้นหาความเป็นตัวเองมาเรื่อยๆ ถามว่าพ่อแม่สนับสนุนด้านนี้ไหม ไม่สนับสนุนเลย แต่วันนี้แม่เข้าใจแล้ว เราเองก็เข้าใจพ่อแม่ว่าอยากให้ลูกมีหน้าที่การงานที่ดี จบไปมีเงินเดือนสูงๆ แม่อยากให้เรียนครูแต่เราอยากเรียนด้านที่ชอบ ถึงเวลานี้มั่นใจว่ามาถูกทางแล้วจริงๆ”
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า บนความมั่นใจทั้งมวล ตนเองก็ต้องแบกความกดดันเพื่อพิสูจน์ให้พ่อแม่ได้เห็นตลอด ว่าเส้นทางที่เลือกเดินคือเส้นทางที่รักจริง ชอบจริง แม้มีความสุข ความทุกข์ ความเศร้า บ้าง ใช่ว่าจะสมหวังไปตลอด มีวันล้ม มีวันท้อ ต้องทนอดหลับอดนอน แต่อยากให้รู้ว่ามาถูกแล้ว สุดท้ายกัดฟันลุกขึ้นสู้กับมันได้ เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ คือความรักชอบที่มอบให้กับความฝันที่มีอยู่
อลิษา ดาโอ๊ะ อาจารย์พิเศษ สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร (วสส.) ให้ข้อมูลว่า เพจ แวรุง ไปไหน เป็นเพจยอดฮิตของบรรดาวัยรุ่นท้องถิ่นชายแดนใต้ ด้วยเนื้อหาที่ถูกถ่ายทอดผ่านคลิปวีดีโอสั้น สะท้อนมุมมอง วิถี ของคนในสังคมยุคปัจจุบัน ที่หลายคนปฏิบัติ แต่อาจไม่เคยนึกถึงเรื่องราวเชิงลึกของเรื่องเล่าเหล่านั้น เพจนี้จึงนำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาจำลองเหตุการณ์ ถ่ายทำ บันทึกเสียง กำกับ และแสดง โดยแอดมินเจ้าของเพจ บวกกับมุขตลกมากมายที่สร้างสีสันและเสียงหัวเราะให้กับผู้ที่ได้ชมคลิปวิดีโอจากเพจนี้
“ในส่วนรูปแบบนั้น จะเน้นความเป็นตัวตนของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้การสื่อสารภาษามลายูถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ทุกคนได้อรรถรสในการรับชมเหตุการณ์ที่ได้จำลองขึ้น และสำหรับแฟนเพจที่ไม่เข้าใจภาษามลายูถิ่น ก็จะมีซับไทยแสดงในทุกคลิปเช่นกัน”
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ทุกๆ คลิปวิดีโอที่สร้างสรรค์ขึ้น มีทั้งสาระ ความบันเทิง เกร็ดความรู้ กระแสนิยม และแง่คิด แฝงอยู่มากมาย นอกจากนี้เพจ แวรุง ไปไหน ยังมีการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ผ่านมุมมองการถ่ายภาพที่ดูแปลกตาและน่าสนใจ ทำให้ผู้ที่ชมคลิปเกิดความอยากรู้ อยากลองมาสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง ที่สำคัญ การทำคลิปแนะนำแหล่งท่องเที่ยว ยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้นอีกด้วย ขณะที่ เดอะ ยี กล่าวทิ้งท้ายว่า ก่อนหน้านี้คิดว่าจบโปรเจกต์แล้วจะกลับไปทำอย่างอื่นต่อ โดยหยุดเพจ แวรุง ไปไหน ไว้ก่อน แต่พอได้ลงมือลงพื้นที่ทำรายการ ทำให้รู้สึกมีความคิดบวกมากขึ้น ได้ไปสัมผัสผู้คน ได้เพื่อนใหม่ ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในบ้านตัวเองให้คนนอกพื้นที่ได้รู้จัก เลยทำให้อยากทำ แวรุง ไปไหน ต่อ เพราะรักสิ่งที่ทำมากขึ้น มองว่าไม่ใช่แค่วิชาเรียนแล้ว คิดจะต่อยอดเรื่อยๆ แต่ยังคงเป็นอัตลักษณ์ฉบับแวรุงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างน้อย การที่เพจ แวรุง ไปไหน นอกจากมีคนติดตามชม มีคนเขียนคำชมชื่นมากมายแล้ว ยังถูกจับตาจากแมวมอง และสถานประกอบการต่างๆ ชวนไปผลิตงานให้หรือเป็นพรีเซนเตอร์นำเสนอสินค้า ทำให้มีรายได้มากขึ้น เป็นผลพวงที่ได้รับจากการทำเพจโดยไม่ได้คาดหวังมาก่อน แต่กลายเป็นผลพลอยได้ที่ได้รับอย่างชื่นใจ นั่นเป็นเสมือนการพิสูจน์วิถีของคนที่ได้ลงมือทำสิ่งที่รักที่ชอบคนหนึ่ง ที่อาจจะแปรเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมาย
เป็นเช่นที่ กัปตัน นิชเดียว เขียนบันทึกชมไว้ว่า เป็นการทำธีซิสจบที่ทุกคนต่างได้รับประโยชน์จริงๆ ในบางที่ที่เเอดมินได้นำเสนอ เชื่อว่าคนในสามจังหวัดเองก็ยังไม่รู้จัก ยิ่งคนนอกพื้นที่ไม่ต้องพูดถึง ชื่นชมเเอดมินที่นำเสนอภาพความสวยงามของพื้นที่ปลายด้ามขวานเเห่งนี้ให้ประจักษ์เเก่สายตาของคนทั่วไป
“อย่างน้อยก็ช่วยลบภาพความรุนเเรงที่สื่อกระเเสหลักพยายามทำให้พื้นที่นี้ดูน่ากลัว ขอชื่นชมจริงๆ เมื่อจบธีซิสเเล้ว อยากให้ทำต่อเรื่อยๆ จะรอติดตามทุกเรื่องทุกที่เลยครับ”