สถาพร ศรีสัจจัง
“กลางฝูงหมา” เป็นชื่อหนังสือประเภท “เรื่องแต่ง” (Fiction) ซึ่งเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย (Contemporary Literature)ชนิดหนึ่ง “อัจฉริยะกวี” นาม “แคน สังคีต” ที่เพิ่งจากโลกนี้ไปเมื่อไม่นาน แปลจากภาษาอังกฤษ (ซึ่งแปลจากภาษาอาหรับอีกที)จากเรื่องเดิมคือ “The Thief and The dog and other Novellas” รจนาโดย “Naguib Mahfuz”/นากิบ มาห์ฟูซ หรือ นะญีบ มะห์ฟูซ (แล้วแต่ใครจะออกเสียงอย่างไร) ซึ่งเป็นนักเขียนแนวอัตถิภวติยม(Existentialism)คนสำคัญรุ่นแรกๆของอาหรับที่โด่งดังมาก
โด่งดังหรือดีเด่นขนาดไหน? ก็ถึงขนาดเป็นนักเขียนชาวอาหรับคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีก็แล้วกันละ!
ส่วน “แคน สังคีต” ผู้แปลละคือใคร?
คนในวงการวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย ล้วนรู้กันดีว่า ท่านเป็นนักเขียนนักแปลลือนามชาวธรรมศาสตร์เชื้อสายสุราษฎร์ธานีของแท้ หลังจากที่ “แปร” มหากาพย์กวีนิพนธ์โบราณชิ้นยิ่งใหญ่เรื่อง “รุไบยาต” ของ “ฮะกิม โอมาร์ คัยยาม”นักปราชญ์เปอร์เซียเป็น “คำกลอนพากย์ไทย” จากพากย์อังกฤษอันโด่งดังของ กวีหนุ่มชาวอังกฤษ ที่ชื่อ นายฟิตเยอราล และเขียนสารคดีทางประวัติศาสตร์เล่มสำคัญๆฝากบรรณพิภพไทยไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ก็ฟังว่า ได้เดินทางไปทำงานหาประสบการณ์ชีวิตที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานับสิบๆปีทีเดียว
ท่านเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง ชื่อจริงของท่านคือ “อาจารย์พิมล แจ่มจรัส” ครั้งสุดท้ายดูเหมือนท่านจะสอนหนังสือในสาขาวิชานิเทศศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกริก เวลาเขียนสารคดี ท่านมักใช้นามปากกา “พิมาน แจ่มจรัส” หลายคนยังหลงคิดอยู่จนเดี๋ยวนี้เลยว่านั่นคือนามจริงของท่าน!
เกี่ยวกับตำนานความยิ่งใหญ่ในวงการกวีนิพนธ์ไทยของท่านผู้นี้ หวังว่าในยุครุ่นทศวรรษ 2500 ท่านโด่งดังมากในหมู่นักกวีชาวธรรมศาสตร์ ยิ่งเมื่อตีพิมพ์ (เอกสารอัดสำเนา)ผลงาน “แปร” เรื่อง “รุไบยาต” ของ ฮะกิม โอมาร์ คัยยาม(ก่อนหน้านั้นมีสำนวน “แปล” ของเสด็จในกรมฯนราธิปฯมาก่อน)ออกมาเผยแพร่ ชื่อ “แคน สังคีต” ก็ประทับแน่นในใจของนักกวีจำนวนไม่น้อยในยุคนั้น
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “กวีรัตนโกสินทร์” เคยเล่าให้ฟังว่า “แคน สังคีต” นี่เอง คือเจ้าของสำนวนที่บรรยายดอกหางนกยูง (ซึ่งเป็น “ดอกไม้สัญลักษณ์” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ได้อย่างไพเราะและกระชับที่สุดด้วยกลอนเพียง 2 วรรค ที่ว่า “ดอกกลมกลม กลีบรีรี สีเรืองเรือง/บานในเมือง หอมถึงป่าอะหา “ยูง”!”
และยังเล่าต่ออีกว่า ตอนที่ท่านตัดสินใจกลับมาใช้ช่วงบั้นปลายชีวิตที่เมืองไทยนั้น ท่านได้เขียน “บทกวี” ส่งถึงกวีใหญ่บางท่านในเมืองไทย ทำนองแหย่เล่นว่า “ระวังไว้ให้ดีตัวจริงกำลังจะกลับมาแล้ว” หรืออะไรทำนองนั้น
ถ้าจำที่อาจารย์เนาวรัตน์เล่าได้ไม่ผิด บทกวีชิ้นนั้นมีความท่อนขึ้นต้นดังนี้ : “ฟ้าแลบแปลบปลาบ/ขุนดาบมาแล้ว/คมขาววาวแวว/ย่างเท้าสะเทือน...” (เสียดายที่มีสติปัญญาจำกัดจึงจำได้มีเพียงเท่านี้..)
และในบท “แปร” รุไบยาต ของท่านนี้เอง ที่บรรดานักกลอนรุ่นหลัง มักจะท่องจำ วรรคทองของท่านกันได้
จะลองยกตัวอย่างให้ฟังสักหน่อยก็ได้ เช่นบทที่ว่า “จำเพื่อลืม ดื่มเพื่อเมา เหล้าเพื่อโลก/สุขเพื่อโศก หนาวเพื่อร้อน นอนเพื่อฝัน/ชีวิตนี้ มีค่านัก ควรรักกัน/รวมความฝัน กับความจริง เป็นสิ่งเดียว” หรือ “หยิบความรัก มาถักเป็น เช่นสายสร้อย/นำความชัง มานั่งร้อย เป็นสายสินจน์/วันจะชื่น คืนจะชัย ไร้ไพริน/โอ้ท้องฟ้า อ้าแผ่นดิน ถิ่นสำคัญ..” หรือ “ชีวิตนี้ มีสองแพร่ง แย้งกันอยู่/หนีหรือสู้ คดหรือซื่อ ร้อนหรือหนาว/ไหวหรือนิ่ง จริงหรือฝัน สั้นหรือยาว/ดำหรือขาว ดีหรือเลว เร็วหรือนาน...ฯลฯ
ออกนอกเรื่องถึงผู้เขียนกับผู้แปล “กลางฝูงหมา” ไปเสียไกล ทั้งนี้ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมแปลเรื่องนี้ยิ่งใหญ่และสำคัญอย่างไร สำคัญจนทำให้มหาบุรุษแห่งวงวรรณกรรมผู้เลอเลิศทั้ง 2 คนต้องมาบรรจบพบเจอะเจอกัน ดังนั้นคอวรรณกรรมตัวจริงจึงไม่ควรพลาด!
ฟังว่า ครั้งสุดท้าย หนังสือเล่มนี้ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ “นาคร” ของท่านเจน สงสมพันธุ์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 2 สมัย, พี่ชายคนสำคัญของนักเขียนซีไรต์หนุ่มลือนามผู้จากไปก่อนกาลอันควรที่ชื่อ" “พงศ์ สงสมพันธุ์” คนนั้นนั่นแหละ หาซื้ออ่านที่ไหนไม่ได้ก็ลองติดต่อไปที่สนพ.นาครดูคงมีเหลือไว้แบ่งขายละมั้ง!
เนื้อหาของวรรณกรรมเรื่องนี้สรุปได้สั้นสุดตามที่'นักรีวิวหนังสือ บางใคร สรุปไว้ คือ “เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ความแค้น ศักดิ์ศรี และความสิ้นหวังของผู้ถูกกระทำ”
ที่จริงตอนที่นึกจะเขียนถึงหนังสือ “กลางฝูงหมา” เล่มนี้นั้น เป็นเพียงเพราะ เห็นเหตุการณ์บ้านเมืองและเรื่องราวของสังคมไทยตอนนี้แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะคิดประหวัดไปถึง “ชื่อเรื่อง” ของวรรณกรรมเรื่องนี้
ก็ไม่แน่ใจนักเหมือนกันว่าตอนที่ “พี่แคน” คิดตั้งชื่อเรื่องหนังสือเล่มนี้นั้น ท่านคิดประหวัดถึงเรื่องอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆก็คือ จะต้องเกี่ยวกับเรื่อง “หมาๆ” อย่างแน่นอน!
เรื่องที่เกี่ยวกับ “หมา” ในสังคมไทยนั้นมีนัยเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก คำไทยประเภทคำประสมที่มีคำ “หมา” เข้ามาร่วมก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย เช่นคำ “เรื่องหมาๆ” หรือ “หมาตำรวจ” หรือ “หมาทหาร” หรือ “หมาหมู่” หรือ “สันดานหมา” หรือ “หมาไม่แดก” หรือ “ไอ้ชาติหมา” (จีนว่า เก๋าเจ๊ง)ฯลฯ
พูดถึงคำจีนที่คนไทยสมัยก่อน โดยเฉพาะบรรดานักหนังสือพิมพ์,ชอบยืมมาใช้ ที่มีคำ “หมา” (ไม่ได้แปลว่า “หมา”)ร่วมอยู่ด้วย น่าจะไม่มีคำไหนเกินไปกว่าคำว่า “หมาต๋า – หมาต๋า” ที่แปลว่า “ตำรวจ”
นั่นแหละ!
ขอเปิดอกในบรรทัดสุดท้ายนี่แหละว่า ที่จริงบทความชิ้นนี้ แต่เดิมตั้งใจจะให้ชื่อว่า “เรื่องของนายกฯลุงตู่ : ตอน “จาก บอส รอดทุกเรื่อง ถึง หมาต๋า “โจ้ ถุงดำ” ” แต่ไหงกลับกลายเป็นเรื่องหมาๆไปเสียได้ก็ไม่รู้แฮะ !!!