เป้าหมายในการเปิดประเทศในเดือนตุลาคม ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะสามารถกอบกู้และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจจากการทำลายล้างจากพิษโควิดได้มากน้อยแค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะแม้จะผ่านจุดสูงสุดของการระบาดมา แต่การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก็ยังต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดคลัสเตอร์การระบาดใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อหันไปดูรายงานของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ(สศช.) พบว่า ไตรมาส 2 ของปี 2564 มีอัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.89% ลดลงเล็กน้อยจาก 1.96% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ซึ่งเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสศช. กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตาดูในช่วงนี้คือสิ่งที่ผู้ว่างงานโดยไม่เคยทำงานมาก่อน หรือผู้ที่จบการศึกษาใหม่ที่มีการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 10% ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 2.9 แสนคน โดยแนวโน้มผู้ที่จบการศึกษาจากอุดมศึกษา และอาชีวะศึกษา มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด โดยมีผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน กว่า 20.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งมีอยู่ 11.7% อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในไตรมาส 2 ของปีนี้ปรับตัวดีขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมปรับเพิ่มขึ้น 2.4% เนื่องจากแรงงานที่กลับภูมิลำเนาแล้วเข้าสู่ภาคการเกษตร ขณะที่แรงงานนอกภาคการเกษตร ปรับเพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนสาขาการจ้างงานที่มีการปรับลดลง เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ส่วนชั่วโมงการทำงานปรับดีขึ้นจากปีที่แล้ว เฉลี่ย 41.6% เพิ่มขึ้น 8.8% และจำนวนผู้ทำงานที่ทำงานล่วงเวลา มีกว่า 6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4.5 ล้านคน โดยชั่วโมงการทำงานที่ปรับเพิ่มขึ้นในส่วนของภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น ผลิตภัณฑ์เคมี ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมกันนี้ สศช.ยังรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาส 1 ของปี 2564 มูลค่าหนี้สินครัวเรือน อยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของไตรมาส 1 ปี 2563 แต่หากเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 อัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1% ขณะเดียวกันหากพิจารณาในส่วนของจีดีพีของประเทศ โดยในไตรมาส 1 ของปี 2564 ลดลงจาก 15.7 ล้านล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 อยู่ที่ 15.61 ล้านล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ก็ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทย ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 90.5% ในขณะนี้ เมื่อภาพรวมของสถานการณ์การว่างงาน และหนี้ครัวเรือนยังสาหัสเช่นนี้ เราอาจต้องพิจารณาเรื่องของการกู้เงินเพิ่ม เพื่อเข้ามากระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่