ผลกระทบจากความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ระลอกล่าสุด นอกจากจะทิ้งบาดแผลสาหัสสากรรจ์กับภาวะเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาด้านสังคมก็หฤโหดไม่แพ้กัน ทั้งประเด็นเรื่องอาชญากรรม ยาเสพติด
และที่เป็นระเบิดเวลาคือ ปัญหาเด็กและเยาวชน ที่โควิดนอกจากจะเข้ามาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขาแล้ว มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดยังทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ขาดการเข้าสังคม ขัดเกลาระเบียบวินัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเรียนออนไลน์ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้า และการสูญเสียพ่อแม่ฉับพลันจากโควิด ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าขาดคนดูแล
ปัญหาเด็กกำพร้าที่เพิ่มมากขึ้น กำลังเป็นปัญหาใหญ่ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเสียชีวิตทั้งพ่อแม่ และผู้สูงอายุ จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่มีความเศร้าจากการสูญเสียคนที่รัก แต่ปฏิกริยาของเด็กไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ที่ต้องการคนแวดล้อม มาช่วยทำให้ความเศร้าผ่านไป อีกทั้งการศึกษาจากหลายประเทศพบว่าผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลกระทบมากกว่าปกติ ทั้งการไม่มีโอกาสได้ร่ำลา จัดพิธีศพเต็มรูปแบบ ส่งผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้ไม่อยากให้เด็กเกิดรู้สึกผิด เสียใจ หรือ ฝังใจจากความสูญเสีย แต่อยากให้เด็กผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปให้ได้ อีกทั้งการเสียชีวิตของทั้งพ่อและแม่ จะทำให้เด็กกำพร้าไม่มีพ่อแม่อีกต่อไป การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ก็จะยากลำบาก รวมไปถึงกลุ่มที่มีความยากลำบากมาก่อนหน้านี้แล้วต้องมาเสียผู้นำครอบครัวซ้ำเติมอีก ย่อมสร้างความหวั่นไหวมากกว่าเดิม ทั้งการอยู่ที่เดิมไม่ได้ ไม่มีคนดูแลต้องเปลี่ยนไปอยู่กับญาติ เปลี่ยนที่อยู่อาศัย เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงไม่อยากให้เด็กอยู่กับความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ อยากให้เด็กเติบโตไปข้างหน้าผ่านสิ่งเหล่านี้ไปให้ได้
นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. เปิดเผยว่า นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. ได้สั่งการให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั่วประเทศ เข้าไปช่วยเหลือดูแลเด็กกำพร้าทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่การลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อสำรวจเด็กกำพร้า ซึ่งปัจจุบันพบ 234 คน และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงให้มีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง และการเยี่ยมบ้านเพื่อสอบข้อเท็จจริงและประเมินปัญหา ความต้องการของเด็กทุกคน ประกอบการช่วยเหลือด้านสิทธิและสวัสดิการสังคมตามภารกิจของกระทรวง พม. พร้อมทั้งประสานกับภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (อพม.) เพื่อบูรณาการแนวทางการช่วยเหลือร่วมกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีการมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อุปกรณ์การเรียน และเงินสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
นางสาวแรมรุ้งกล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากผลกระทบของโรคโควิด-19 กระทรวง พม.ได้ใช้ระบบการเลี้ยงดูทดแทนและทรัพยากรการสนับสนุนการเลี้ยงดูทดแทน ได้แก่
1.การเลี้ยงดูทดแทน ด้วยครอบครัวเครือญาติเด็ก โดยกระทรวง พม.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายครอบครัวอุปถัมภ์ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน จนกระทั่งเด็กอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และมีพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กช่วยให้ครอบครัวดูแลเด็กได้อย่างมีคุณภาพ
2.การเลี้ยงดูในครอบครัวทดแทนถาวร โดยการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวบุญธรรม ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายที่กำหนด โดยมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อเด็กตามกฎหมาย
และ 3.หากเด็กไม่สามารถหาครอบครัวทดแทนได้ สถานสงเคราะห์ของกระทรวง พม. จะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กชั่วคราว ผ่านการจัดบริการด้านต่างๆ เช่น บริการปัจจัยสี่ การดูแลรักษาพยาบาล การศึกษา พัฒนาการ การติดตามสืบหาครอบครัว และกำหนดแผนการเลี้ยงดูทดแทนระยะยาว
นางสาวแรมรุ้งกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการช่วยเหลือเด็กกำพร้าด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์รับเด็กกำพร้าที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเด็กนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งเรื่องการรับทุนการศึกษาและการเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งสามารถเรียนได้สูงที่สุดตามความสามารถของเด็ก
กระนั้น แม้จะมีมาตรการในการดูแลและรองรับปัญหาเด็กกำพร้า แต่ยังมีปัญหาที่ละเอียดและซับซ้อนอีกมาก ความเป็นไปได้ คือความคาดหวังให้การป้องกันการสูญเสียเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด การตัดวงจรการระบาด และการคืนสภาวะปกติให้กับระบบสาธารณสุข เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอที่เราหวังว่าจะได้เห็นแนวโน้มและสัญญาณที่ดีในเร็ววันนี้