ยังไม่ทันที่ศึกในสภาผู้แทนราษฎร จะระเบิดขึ้นในวันนี้ 31 ส.ค. ยาวไปจนถึงวันที่ 3 ก.ย.64 ก่อนที่จะไปลงมติ ไว้วางใจกันในวันเสาร์ที่ 4 ก.ย.นี้ ปรากฎว่า เกิดแรงกระเพื่อมที่มาจาก "คลื่นใต้น้ำ" จากกลุ่มก๊วนการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ ด้วยกันเอง
เรียกว่า ยังไม่ทันได้รู้ว่ารัฐมนตรีคนใด จะได้เสียงโหวตไว้วางใจชนิดรั้งท้าย ภายพรรคพลังประชารัฐ ก็เริ่มเดินสายเคลื่อนไหวเจรจาต่อสาย ต่อรองกันให้วุ่นวาย โดยเฉพาะถึงขั้นประเมินกันแล้วว่า รัฐมนตรีคนไหน จะอยู่หรือไป ด้วยหวังว่า "ยืมมือ" จาก "7พรรคฝ่ายค้าน" เขย่าให้ร่วงจากเก้าอี้
สถานการณ์ของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้ฝากไปยังรัฐมนตรีในระหว่างการประชุมครม. เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าพร้อมชี้แจงสภาฯด้วยข้อเท็จจริง และยืนยันว่าการทำงานทุกอย่างที่ผ่านมาเป็นไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโควิด -19 ได้ดำเนินการตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอมาตลอดจนหารือกับทุกฝ่าย
ส่วนเรื่องโหวตลงคะแนนในสภาฯ นั้น นายกฯขอให้เป็นไปตามกลไกรัฐสภาไม่มีอะไรต้องห่วง!
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้ว ตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองใช่ว่าจะไม่เคย "ประดาบ" กับ "ฝ่ายค้าน" เพราะต้องไม่ลืมว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สาม ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562
หมายความว่าพล.อ.ประยุทธ์ ย่อมรู้มือ ประเมินน้ำหนักของฝ่ายค้านได้ระดับหนึ่ง และครั้งนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ยังอาจกลายเป็น "โอกาส" ให้รัฐบาลได้ชี้แจง พลิกทวงแต้มกลับคืนมาได้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มเป็นกร๊าฟที่ดิ่งลง โดยก่อนหน้านี้เคยพุ่งสูงจนทำให้ทุกฝ่ายวิตกกังวลกันมาแล้ว
แต่ทว่าปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ต่างหากที่กำลังจะกลายเป็น "ศึกใน" ที่สร้างความหนักใจให้กับพล.อ.ประยุทธ์ มากกว่าแรงกระทุ้งจาก "ฝั่งตรงข้าม" เสียแล้ว เพราะถึงอย่างไร แรงกดดันจากฝ่ายค้าน ก็ไม่อาจเอาชนะคะคานรัฐบาลด้วย "เสียงโหวตในสภาฯ" ได้อย่างชัดเจน ด้วยเสียงของฝ่ายรัฐบาลนั้นมีอยู่เหนือกว่า7พรรคฝ่ายค้าน หลายเท่าตัว พ้นจากสภาวะ "เสียงปริ่มน้ำ" หากแต่สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องกุมขมับ กลับมาอยู่ที่การต่อรองเพื่อเปิดเกม "เขย่าเก้าอี้รัฐมนตรี" จากคนในพรรคพลังประชารัฐกันเอง จนในที่สุดแล้ว จะนำไปสู่ปัญหา "เสียงแตก" มีรัฐมนตรีบางรายที่อาจได้รับเสียงโหวตน้อยที่สุดจนเกิดเป็นความขัดแย้งร้าวลึกกันเอง ตามมา
แม้ในความเป็นจริงแล้วหลายคนรู้ดีว่าถึงอย่างไร พรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังต้องอยู่ด้วยกัน ประคับประคองกันไปจนกว่า จะครบเทอม โอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศยุบสภาฯ หรือลาออก คงไม่เกิดขึ้นให้เห็น แต่การอยู่ร่วมกันในลักษณะที่เกิดรอยร้าว ความขัดแย้งที่เกาะกินกันไปภายในพรรค ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันผวน ผสมปนเปไปกับข่าวลือที่ว่าด้วยการเปิดดีลข้ามขั้ว ให้สับสนอลหม่านกันไปหมดอย่างที่เห็น !!