แม้พรรคเพื่อไทยในฐานะ "พรรคแกนนำฝ่ายค้าน" จะปรับยุทธวิธีเพื่อตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะหวังพุ่งเป้าถล่มไปยัง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้นำรัฐบาล อย่างแข็งขันก็ตามที
แต่ดูเหมือนว่า ในห้วงจังหวะเวลาเดียวกัน พรรคเพื่อไทยเองกำลังเผชิญหน้ากับ "ข่าวลือ" ที่เป็นทั้ง "บวก" และ "ลบ" ต่อพรรคในคราวเดียวกัน
ด้วยพรรคเพื่อไทย คือพรรคแกนนำฝ่ายค้านมี "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นั่งอยู่ใน "ผู้นำฝ่ายค้าน" ในสภาผู้แทนราษฎร คือพรรคใหญ่ที่ถือธงนำฝ่ายค้านอีก 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยศรีวิไลย์ และพรรคเสรีรวมไทย กลับถูกตั้งคำถามจาก "ข่าวลือ" ที่ผุดขึ้นมา ก่อนถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ส.ค. -3 ก.ย.นี้
ในท่วงทำนองที่ว่า พรรคเพื่อไทย มีการ "เปิดดีล" เพื่อเตรียมเข้าร่วมรัฐบาล "แทนที่" บางพรรคการเมือง ที่วันนี้แม้มีสถานะเป็น "พรรคร่วมรัฐบาล" แต่อีกไม่ช้า ไม่นาน จะแปรเปลี่ยนไปสู่สถานะ "พรรคฝ่ายค้าน"
ทางหนึ่ง ย่อมทำให้เกิดความกินแหนงแคลงใจกันเองระหว่าง "พรรคร่วมฝ่ายค้าน" ที่จะมีคำถามตามมาว่า ถ้าเช่นนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะมีรายการ "ล็อบบี้" ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ ฝ่ายรัฐบาลจริงหรือไม่ โดยเฉพาะ กับพรรคพลังประชารัฐ พรรคใหญ่แกนนำรัฐบาล
ขณะที่อีกทางหนึ่ง ยังจะกลายเป็นว่า "ข่าวลือ" ที่ถูกปล่อยมาเขย่าขวัญฝ่ายค้านด้วยกันเองจนเคยเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคก้าวไกลกันมาแล้วเมื่อครั้งการพิจารณาร่างงบประมาณ 2565 จนลากยาวมาถึงวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุด
ในท่วงทำนองว่านาทีนี้ พรรคเพื่อไทยเปรียบเสมือน "หุ้นการเมือง" ที่อยู่ในสายตา ของนักลงทุนอย่างพรรคพลังประชารัฐมากกว่าใครเพื่อน !
ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังไม่ทันได้เริ่มนับหนึ่ง ในวันที่ 31 ส.ค.แต่กลับกลายเป็นว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคใหญ่ แกนนำฝ่ายค้าน กลับเป็นฝ่ายถูกตั้งข้อสงสัย เสียเอง แถมงานนี้ยังไม่เพียงแต่จะ "เขย่า" ให้พรรคฝ่ายค้าน "มองหน้ากันไม่ติด" เท่านั้น
แต่ยังกลายเป็นว่า "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้รอบนี้เจ้าตัวจะไม่มีชื่อติดโผถูกฝ่ายค้านซักฟอกในสภาฯ แต่ต้องมาตอบคำถาม ว่า พรรคที่อยู่ในกระแสข่าวอาจจะถูกปรับออกจากครม.เพื่อเปิดทางให้พลังประชารัฐดึงพรรคเพื่อไทยเข้ามาแทน นั้นหมายถึง พรรคประชาธิปัตย์ ใช่หรือไม่ ?
สมรภูมิในสภาฯ รอบนี้ต้องจับตารอลุ้นกันช็อตต่อช็อตว่า นอกเหนือไปจากภารกิจการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ พ่วงด้วยอีก 5 รัฐมนตรี นั้นยังมีเกมที่ซ้อนเกมซ่อนอยู่ด้วยหรือไม่ โดยที่ทุกเกมการเล่นยังดูเหมือนว่า พลังประชารัฐจะเป็นฝ่าย "ได้เปรียบ" ในหลายทาง
แค่ใช้กลยุทธ์ด้านการข่าว "เขย่า" ฝ่ายค้าน สัมพันธภาพก็เริ่มรวน !!