ทวี สุรฤทธิกุล รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาม็อบเหมือนกับโควิด คือ “ทำแบบไม่รู้จะทำอะไร” ก่อนอื่นต้องมองผู้ที่เป็น “ผู้นำประเทศ” นี้เสียก่อน เพราะผู้นำมีผลต่อ “มุมมอง” หรือ “วิสัยทัศน์” ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ในความเข้าใจของคนทั่วไปก็จะมองว่า ในรัฐบาลคณะนี้ ผู้นำทหารน่าจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด แต่จากการติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนพบว่า(ความจริงผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองและนักวิชาการต่าง ๆ ก็ค้นพบคล้าย ๆ กัน) โครงสร้างทางอำนาจของสังคมไทยไม่ใช่ระบบ “ผู้นำเดี่ยว” แต่เป็นระบบ “ผู้นำรวมหมู่” คือ เรามีผู้นำอยู่ในหลาย ๆ กลุ่มทางสังคม ตั้งแต่ พระมหากษัตริย์ ทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมือง ผู้นำมวลชน ผู้นำชุมชน จนถึงผู้นำทางสังคมในองค์กรและท้องถิ่นต่าง ๆ และเมื่อสถานการณ์ทางการเมือง “ถึงวิกฤติ” ผู้นำเหล่านี้ก็จะมารวมกัน แต่ไม่ได้มาร่วมกันทุกกลุ่มตลอดเวลา เช่น ในช่วงที่เป็นเผด็จการ ทหารจะถูกเสนอให้เป็น “ผู้นำโดด” แต่ถ้าในยุคที่มีการเลือกตั้ง นักการเมืองก็อาจจะเลือกจับขั้วกับทหารบ้าง นักธุรกิจบ้าง หรือกลุ่มประชาชนบ้าง และถ้าเป็นช่วงกึ่งเผด็จการ ทหารก็อาจจะหันมาจับมือกับนักการเมืองและกลุ่มประชาชน อย่างกรณีของ ค.ส.ช.ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อยู่ในรูปแบบหลังนี้ การที่การเมืองไทยมีโครงสร้างอำนาจแบบ “ผู้นำรวมหมู่” ทำให้ผู้นำอยู่ในภาวะ “พะว้าพะวัง” การตัดสินใจไม่ค่อยเด็ดขาด และมักมีการปรับนโยบายไปตามกระแส ซึ่งก็คือสถานะที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง อย่างกรณีของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นี้ ที่ถ้าเราติดตาม “วิวัฒนาการ” ของการใช้อำนาจของพลเอกประยุทธ์ เราก็จะเห็นว่า ในช่วงแรกหลังการเข้ายึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ท่านจะมีท่าทางดูเด็ดขาดเข้มแข็งเป็นอย่างมาก เป็นที่ชื่นอกชื่นใจของบรรดาผู้รักความสงบทั้งหลาย โดยเฉพาะนโยบายการจับนักการเมืองที่ก่อความวุ่นวายไป “ปรับทัศนคติ” แต่ต่อมาเมื่อมีการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานร่าง ในปี 2558 รวมถึงการยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติทิ้งไปทั้งหมด สังคมก็เริ่มหวาดหวั่น ไม่ไว้ใจว่าทหารคณะนี้กำลังคิดจะทำอะไร โดยเฉพาะกระแสความเชื่อที่ว่า ทหารคณะนี้ต้องการสืบทอดอำนาจ และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อคณะของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ได้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แล้วเสร็จ และมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้ง ทหารก็เข้ามาจัดการกวาดต้อนนักการเมืองทุกประเภทเข้ามาตั้งเป็นพรรคพลังประชารัฐ อันแสดงให้เห็นว่า ทหารต้องการจะมีอำนาจมาก ๆ ไม่ว่าจะด้วยวิถีดีหรือเลว อันนำมาสู่การต่อต้านของสังคมหลาย ๆ กลุ่ม อย่างที่เห็นเป็นม็อบต่าง ๆอยู่ในเวลานี้ ที่แม้ว่าจะออกมาทำกิจกรรมอย่างหร็อมแหร็มกระจัดกระจาย แต่นั่นก็เป็นแค่ “เปลือกนอก” ที่ปรากฏเป็นภาพให้เห็น ทว่า “เนื้อใน” ที่กำลังเดือดพลุกผล่านอยู่ในหลาย ๆ ภาคส่วนของสังคม ที่ไม่อาจจมองเห็นได้ด้วยสายตา แต่อาจจะสัมผัสได้ด้วยการจับกระแสโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นั้น กำลังจะก่อตัวเป็นแรงระเบิดขนาดใหญ่ ที่จะระเบิดออกมาถล่มสังคมไทยให้ราบพณาสูญในสักวันหนึ่งนี้ก็ได้ ด้วยภาวะที่พลเอกประยุทธ์ ต้องใช้อำนาจท่ามกลางผู้มีอำนาจที่หลากหลายในสังคมนี้ ก็ทำให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างสับสน ดังที่จะเห็นในนโยบายการแก้ไขปัญหาโควิด-19 จนกระทั่งต้องออกมารวบอำนาจและบริหารประเทศในแบบ “ซิงเกิลคอมมานด์” ที่ก็ดูวูบวาบ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ดังเดิม และเมื่อมองเปรียบเทียบกับนโยบายการแก้ปัญหาม็อบ ที่รัฐบาลก็ยังมะงุมมะงาหรา ปล่อยให้ตำรวจจัดการปัญหาไปตามลำพัง เหมือนว่าไม่ได้ให้ความสำคัญ อย่างที่ฝ่ายเชียร์ทหารเรียกว่า “ไม่ให้ราคา” และก็คิดว่าปัญหาม็อบนี้คงเลิกราไปเอง เมื่อพวกม็อบเมื่อยล้าเบื่อหน่าย หรือเมื่อสปอนเซอร์ผู้บงการไม่ให้เงินสนับสนุน แต่ถ้ารัฐบาลคิดไปในแนวนั้น ก็คงเป็นความคิดที่ “ผิดมหันต์” เพราะทหารและผู้ร่วมเสพย์อำนาจในรัฐบาลชุดนี้คงจะไม่ได้เรียนวิชาสังคมวิทยา เรื่อง “กระบวนการอบรมกล่มเกลาทางสังคม” (Socialization) ที่ได้ปล่อยให้มีการแพร่เชื้อของความคิด ผ่านผู้คนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะที่กระทำกับกลุ่มเยาวชน ที่ผู้ก่อการม็อบจับจุดได้ว่าเป็น “กลุ่มเปราะบางทางการเมือง” ที่สามารถถ่ายทอดความเชื่อความคิดต่าง ๆ อย่างได้ผล โดยเฉพาะความรู้สึกเกลียดชังพระมหากษัตริย์ จนถึงความเกลียดชังรัฐบาลและระบอบเผด็จการ ซึ่งนับวันที่จะ “แผ่ซ่านและซึมซาบ” ไปทั้งแผ่นดิน แต่รัฐบาลกลับไม่ปรับตัวที่จะทำตัวให้หมดปัญหา ด้วยการปล่อยอำนาจให้กับประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้ง และถ้าทหารกลัวว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะมาจ้องทำลายประเทศและสถาบัน ทหารก็ประกาศตั้งพรรคทหารให้ชัดเจน และลงเลือกตั้งด้วยการประกาศนโยบายในการปกป้องสถาบันต่าง ๆ ให้ชัด ๆ ถ้าคนไทยยังเชื่อใจทหาร เขาก็จะต้องเลือกพรรคของทหารเข้ามาปกครองประเทศต่อไปอย่างแน่นอน เพราะที่ทหารยังหวงอำนาจอยู่อย่างนี้ ก็ยิ่งทำให้มีการเชื่อมโยงไปในทางเสีย ๆ หาย ๆ ว่า ประเทศไทยที่เป็นสังคมรวมหมู่อำนาจ โดยทหารเป็นผู้ค้ำจุนอำนาจทั้งหลายนั้นอยู่แล้ว ทหารยังได้นำไปสู่การรวมหมู่ซึ่งผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีทหารเป็นผู้คุ้มครองให้กลุ่มคนเหล่านั้นได้ประโยชน์อย่างมหาศาลอีกด้วย เช่นเดียวกันกับที่เราเห็นการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่รัฐบาลก็สารภาพแล้วว่า ได้กระทำการผิดพลาดไปหลายอย่าง เป็นต้นว่า ไม่คิดว่าจะมีการแพร่ระบาดอย่ารุนแรงในช่วงต้นปี 2563 เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อย ๆ ในปี 2562 จึงได้ปลดล็อคให้คนกลับบ้านตอนสงกรานต์ปีต่อมานั้นได้ หลังจากนั้นก็เกิดการระบาดในระลอกที่สามเมื่อกลางปีที่แล้ว และตามมาด้วยระลอกที่สี่ในช่วงหลังสงกรานต์ปี 2564 นี้ด้วย แต่ที่แย่ที่สุดก็คือการสั่งซื้อวัคซีนที่ไม่พอเพียงและไม่ทันกาล ที่รัฐบาลบอกว่าก็เป็นด้วยการคาดการณ์ที่ผิดพลาดเช่นกัน เพราะไม่นึกว่าการระบาดจะร้ายแรงจนเอาไม่อยู่อย่างนี้ จนถึงที่ไม่ได้มีการชี้แจงข่าวสารเรื่องวัคซีนให้ประชาชนเข้าใจ เช่น การส่งข่าวกันอย่างสับสนว่าวัคซีนอะไรเป็น “เทพ” เป็น “มาร” จะฉีดไขว้ ฉีดกี่เข็ม วัคซีนวีไอพี หรือจะได้ฉีดเมื่อไหร่ ฯลฯ เมื่อทหารปกครองประเทศ เราก็ต้องย่ำเท้านับ “นึ่ง ซ่อง ซาม สี่ ห้า” ไปอย่างนี้แหละ