เสือตัวที่ 6
ยาเสพติดถือเป็นหนึ่งในภัยแทรกซ้อนที่ทําให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่า ยาเสพติดในพื้นที่ โดยเฉพาะพืชกระท่อมนั้น มีส่วนสำคัญที่เกี่ยวโยงกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยาเสพติด ที่นิยมใช้กันของกลุ่มวัยรุ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด คือ ใบกระท่อม สาเหตุที่ ใบกระท่อมเป็นยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดสูงมาก เนื่องจากมีความนิยมสูงของกลุ่มผู้เสพโดยเฉพาะวัยรุ่นในพื้นที่ จึงมีขบวนการลักลอบนําเข้าจํานวนมาก จากสถิติของสํานักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง พบว่า การจับกุมคดียาเสพติดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อําเภอของจังหวัดสงขลา คือ เทพา นาทวีจะนะ และสะบ้าย้อย แต่ละปีมีการจับกุมยาเสพติด เพิ่มสูงขึ้น โดยการปลูกสําหรับการบริโภค หรือการแบ่งจําหน่ายแบบไม่เป็นทางการ การลักลอบปลูก ลักษณะนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบมากในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานีและยะลา ตามลําดับ
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ. 2564 สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยที่ปัจจุบันพืชให้ยกเลิก “พืชกระท่อม” จากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล และบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ประกอบกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 และพิธีสารแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1972 มิได้กำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลและบริบทของสังคมไทยในบางพื้นที่ที่มีการบริโภคพืชกระท่อม ตามวิถีชาวบ้าน สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะตรงกับวันที่ 24 ส.ค.64 โดยประชาชนสามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ ในรูปแบบวิถีชาวบ้านได้โดยไม่ผิดกฎหมาย รวมถึงการใช้พืชกระท่อมทางการแพทย์ ในขณะนี้ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.... ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่างกฎหมายมีหัวใจการกำหนดมาตรการกำกับดูแล และป้องกันการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิดภายหลังถอดให้โทษ โดยเฉพาะควบคุมไม่ให้เด็กและเยาวชน นำกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด และให้ชาวบ้านเข้าถึงการปลูกและแปรรูปพืชกระท่อมได้ สามารถรวมกลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือเป็นรายบุคคลเพื่อจำหน่ายเองได้ ดังนั้น พ.ร.บ.พืชกระท่อมฉบับนี้จึงถือเป็นกฎหมายที่มาจากวิถีชาวบ้าน ตามความต้องการของประชาชนโดยประชาชน เป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
หากแต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่มองแต่ประโยชน์ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8 ) พ.ศ. 2564 ให้ยกเลิก “พืชกระท่อม” จากยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ครั้งนี้ ที่มองว่ามีความรอบคอบแล้ว ในแง่มุมที่สังคมบางส่วนยังห่วงกังวล โดยเฉพาะปัญหาพืชชนิดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของยา 4 คูณ 100 โดยเห็นว่า จากนี้ไปการปลูกพืชกระท่อม การนำเข้า การส่งออกเชิงพาณิชย์ การขายในระบบอุตสาหกรรม จะต้องดูเรื่องปริมาณ จะต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนดไว้ในกฎหมาย รวมถึงเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ผู้ขอรับอนุญาต หรือผู้ปลูก ผู้ขาย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกพืชกระท่อม ก็จะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน จะมีการออกมาตรการมาคุ้มครองว่าจำนวนเท่าไหร่ที่บริโภคแล้วถือว่าเป็นอันตราย เพราะจะต้องจำกัดในการบริโภคด้วย โดยย้ำว่า เรื่องการขายน้ำต้มกระท่อม อาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่สามารถทำได้ หรือแม้แต่การขายใบกระท่อม น้ำต้มกระท่อม ในสถานศึกษา หอพัก หรือในวิธีอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ เช่น การขายโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์นั้น ไม่สามารถดำเนินการได้
แม้ว่ามุมมองที่เห็นประโยชน์ของการออกกฎหมาย ยกเลิกพืชกระท่อม เป็นสารเสพติด จะมีอยู่มากมาย รวมทั้งมีความพยายามในการออกมาตรการในการควบคุม ไม่ให้มีการใช้โอกาสนี้ ในการนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญของยากล่อมประสาทให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีความฮึกเหิมลืมตัวร่วมขบวนการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ปลายด้ามขวานของไทยได้ง่ายมากขึ้น หากแต่ที่ผ่านมา กฎหมายและมาตรการหลายครั้งหลายอย่างของรัฐ มักมีช่องว่างในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในพื้นที่ปลายด้ามขวานซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษ ที่ยังมีความล่อแหลมที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอย่างเห็นได้ชัด
ด้วยมีข้อมูลชัดเจนว่ากลุ่มก่อความไม่สงบรวมทั้งแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนแห่งนี้ มีการใช้พืชกระท่อม เป็นส่วนผสมหลักของยากระตุ้นประสาทที่เรียกว่า 4 คูณ 100 ที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมเสพ เพื่อให้เกิดความฮึกเหิมอย่างลืมตัว ลืมตายในการก่อเหตุร้ายทำลายผู้คนที่บริสุทธิ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด มีผู้นำชุมชนหลายคน มีความกังวลว่า หากมีการซื้อขายกันได้สะดวก ไม่ผิดกฎหมาย จะทำให้กลุ่มวัยรุ่น หันมา เสพน้ำกระท่อม สูตร 4 คูณ 100 กัน เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีใบกระท่อมเป็นตัวผสมหลัก นำไปสู่ ยาเสพติดประเภทอื่นต่อไป โดยเฉพาะการเป็นยากระตุ้นประสาท ที่เรียกว่า 4 คูณ 100 ให้เป็นตัวกระตุ้นจิตใจให้หาญกล้าทำเรื่องเลวร้ายที่กระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบสุขในพื้นที่
ผู้นำชุมชนในพื้นที่ ที่เห็นด้วยและชื่นชอบการการยกเลิกพืชกระท่อม เป็นพืชเสพติด โดยเล็งเห็นให้เป็นพืชเศรษฐกิจในภาพรวม ที่ครอบคลุมหลายจังหวัดภาคใต้ เพราะเป็นการประกาศอิสรภาพให้พืชประจำถิ่นชนิดนี้ ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นยาเสพติดมาเป็นเวลาหลายสิบปี ให้มีโอกาสเติบโต ต่อยอดไปในแง่มุมอื่นๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจของท้องถิ่นให้มีโอกาสก้าวหนาทัดเทียมประเทศข้างเคียง หากแต่ในอีกมุมหนึ่ง ผู้นำชุมชนและฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ยังมีความห่วงกังวลผลกระทบและโอกาสร้ายๆ ที่ฝ่ายขบวนการและกลุ่มที่มีผลประโยชน์ร่วมกับความไม่สงบในพื้นที่ จะใช้โอกาสนี้ในการมอมเมาเยาวชนในท้องถิ่น ให้ร่วมขบวนการร้ายแห่งนี้โดยไม่รู้ตัว จึงต้องการให้ รัฐเร่งหามาตรการป้องกันที่เข้มข้น และทำได้จริงในพื้นที่ปลายด้ามขวาน เพราะพื้นที่แห่งนี้ มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่น จึงต้องให้ความรอบคอบ รัดกุมเป็นพิเศษนั่นเอง