ทองแถม นาถจำนง “คึกฤทธิ์ ปราโมช” เล่าตำนานเรื่องพระเจ้าอู่ทองเสวยเหล็กไว้ใน คอลัมน์ “ข้างสังเวียน” (ธันวาคม 2520) ดังนี้ “ตำนานพระเจ้าอู่ทองนั้น แปลกประหลาดพิสดารเป็นอันมาก เพราะพระเจ้าอู่ทองนั้น จะทรงมีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่ไหนไม่มีใครทราบ แม้แต่ตำนานก็เล่าไม่ถึง มีแต่ผู้สันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าทรงเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์เชียงแสนซึ่งอยู่ทางเหนือสุดของไทย แล้วเสด็จลงมาได้พระราชธิดาของกษัตริย์เมืองสุพรรณแล้วจึงได้เสด็จมาตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระต่างหากขึ้นอีกกรุงหนึ่ง บ้างก็ว่าพระเจ้าอู่ทองเสด็จมาจากเมืองอู่ทอง บางแห่งก็ว่าเสด็จมาจากกำโพชนคร เมืองนี้จะอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่จากจดหมายเหตุของนายวันวลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาเมืองไทยหลังสมัยพระนเรศวรเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า พระเจ้าอู่ทองเป็น "เจ๊ก" แต่จะมีคนไทยคนไหนบอกนายวันวลิตเช่นนั้นไม่ทราบ หรือแกไปได้ข้อมูลมาจากไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ขอพักเอาไว้แค่นี้ มาต่อเรื่องตำนานที่เกี่ยวกับพระองค์ดีกว่า ตามตำนานบอกว่า พระเจ้าอู่ทองเสด็จหนีโรคห่ามาจากเมืองอื่น แล้วจึงมาทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นที่หนองโสน คือพระนครศรีอยุธยาทุกวันนี้ ส่วนห่าจะลงที่ไหนจนถึงกับพระเจ้าอู่ทองต้องเสด็จหนีมานั้น ก็ไม่มีใครรู้ และตำนานก็ไม่บอก ส่วนตำบลหนองโสนนั้น มีคำพังเพย หรือคำทำนายเก่าแก่ของคนที่นั่นเล่ากันต่อ ๆ มาเกี่ยวกับผู้มีบุญที่จะมาสร้างเมืองลงบนหนองโสนได้ว่า ผู้มีบุญนั้นจะต้องกินเหล็กได้เป็นประการหนึ่ง และจะต้องสามารถยิงลูกศรไปแล้วทำให้ลูกศรกลับมาคืนคันศรได้ เป็นประการที่สอง ตำนานเล่าต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงได้ยินคำทำนายนี้ ก็ทรงปฏิบัติให้ตรงกับคำทำนายได้ทั้งสองประการ ประการแรก โปรดฯ ให้ตะไบเหล็ก แล้วเอาเหล็กที่เป็นขี้ตะไบนั้นมาผสมกับพระกระยาเสวยทุกมื้อ การที่ทรงทำเช่นนี้ ยิ่งทำให้ทรงมีพระวรกายแข็งแรง เจริญพระยาหารพ่วงพีมีกำลังจนเป็นที่ประหลาดใจแก่คนทั้งปวง ประการต่อมา พระเจ้าอู่ทองได้ทรงยิงลูกศรให้ไปตกลงในแม่น้ำซึ่งกำลังไหลลง แล้วพระองค์ก็ไม่ต้องทำอะไร เพียงประทับรออยู่ที่ใต้น้ำ เมื่อลูกศรไหลตามน้ำลงมาถึง พระองค์ก็ทรงเอาคันศรเข้ารับ เป็นอันว่าทรงสามารถยิงลูกศร แล้วทำให้ลูกศรกลับคืนคันศรได้สมดังคำทำนายทุกประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระเจ้าอู่ทองจึงทรงเป็นผู้มีบุญตามคำทำนาย สมควรที่จะสร้างพระนครลงบนหนองโสนได้ โดยคนทั้งปวงเห็นพ้องต้องกันในบุญญาธิการนี้ และหลังจากนั้นก็คงจะทรงได้รับความร่วมมือจากคนทั้งปวงในการสร้างพระนครขึ้น ณ ที่นั้น ไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือฝ่าฝืนอีก เรื่องนี้นับได้ว่าพระเจ้าอู่ทองท่านทรงใช้ความเชื่อถือในไสยศาสตร์หรือคำทำนายนี้ให้เป็นประโยชน์แก่พระองค์เอง จนคนทั้งปวงยอมรับ นับเป็นพระปรีชาสามารถเป็นอันมาก ย้อนมาเรื่อง “กินเหล็ก” ข้าพเจ้าคิดว่า ความเกี่ยวเนื่องที่น่าจะใกล้ชิดกับตำนานนี้ มาจากความเชื่อ เรื่องคนกินเหล็กศักดิ์สิทธิ์เช่น เหล็กไหล แล้วมีฤทธิ์มีบารมี อันเป็นความเชื่อเก่าแก่ของคนในภูมิภาคนี้ ดังที่ “โจวต้ากวน” เล่าไว้ใน “บันทึกเรื่องพื้นถิ่นเจินล่า” บรรยายสภาพของเจินล่าก๊ก หรือ เจนละ ในรัชสมัยพระเจ้าศรินทรวรมัน ไว้ว่า 闻在先国主辙迹未尝离戸,盖亦防有不测之变也。新主乃故国主之壻,原以典兵为职,其妇翁爱女。女宻窃金劒,以往其夫,以故亲子不得承袭。尝谋起兵,为新主所觉,斩其趾而安置于幽室。新主身嵌圣铁,纵使刀箭之属著体,不能为害,因恃此遂敢出戸 (คุณเฉลิม ยงบุญเกิด แปลเรื่องนี้ไว้ เป็นหนังสือชื่อ “บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ” ) จุดสำคัญที่เกี่ยวกับเหล็กไหล คือ 新主身嵌圣铁,纵使刀箭之属著体,不能为害,因恃此遂敢出戸。余宿畱岁馀,见其出者四五。凡出时诸军 ข้าพเจ้าแปลใหม่ทั้งหมดว่า “ยินมาว่า แต่ก่อนประมุขก๊กไม่เคยเสด็จออกจากพระราชวัง เพื่อป้องกันสถานการณ์ผันแปรที่มีอาจคาดได้ ประมุของค์ใหม่เป็นพระราชบุตรเขย เดิมเป็นผู้บัญชาการกองทัพ พระสสุระ(คือประมุขก๊กองค์ก่อน)ทรงรักพระราชธิดา พระราชธิดาทรงลักกระบี่ทอง(พระขรรค์ชไชยศรี)ไปให้สวามี พระโอรสจริงึงมิได้สืบทอดราชสมบัติ เคยวางแผนใช้กำลังทหาร ประมุขใหม่ทรงทราบ จึงตัดนิ้วเท้าขังไว้ในคุกลับ ประมุของค์ใหม่ฝังเหล็กศักดิ์สิทธิ์ในพระวรกาย ทำให้แม้ดาบ , ศร ถูกพระกาย ก็ไม่เป็นอันตราย จึงทรงกล้าออกจากพระราชวัง” ข้อความตรง “ประมุของค์ใหม่ฝังเหล็กศักดิ์สิทธิ์ในพระวรกาย” นั้น ฉบับภาษาไทยที่แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส , ภาษาอังกฤษ ล้วนแปลผิดว่า พระเจ้าศรินทรวรมันทรงสวมเสื้อเกราะ ! ในเรื่อง “ถกเขมร” อาจารย์หม่อมก็แปลผิดไปตามต้นฉบับภาษาอังกฤษเช่นกัน แม้ฉบับของปะแดง มหาบุญเรือง คัชมาย์ ที่แปลจากฉบับภาษาแขมร์ของ ศ.ลี เธียบ เต็ง ก็ผิด เพราะ ศ.ลี เธียบ เต็ง แปลจากภาษาจีนผิดมาแต่ต้น ตัวอักษรจีนที่ก่อปัญหาคือคำว่า “เฉี้ยน” 嵌 qiàn เฉี้ยน แปลว่า เอาของเล็ก ๆ อัดลงในส่วนเว้าของสิ่งใหญ่ ๆ , (คำกริยา) – ฝังลงในส่วนเว้าให้แน่น ๆ 嵌 qiàn 【释义】把小的东西填在大东西上面的凹处:嵌花|镶嵌|嵌金。嵌 〈动〉镶嵌 紧紧埋入 下陷,凹陷 เปรียบให้เห็นง่าย ๆ เช่น ภาชนะฝังมุก ข้าพเจ้าวางมติว่า “พระเจ้าศรินทรวรมันทรงฝังเหล็กไหล” การฝังเหล็กไหล กินเหล็กไหล แล้วมีฤทธิ์มีบารมี คงเป็นความเชื่อของคนโบราณ การมีตำนานพระเจ้าอู่ทองกินเหล็ก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย