สมบัติ ภู่กาญจน์
ข้อเขียนของอาจารย์คึกฤทธิ์ตอนนี้ เริ่มต้นดังต่อไปนี้
“ ได้พูดถึงความคิดเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองและนักการเมือง ของนักปราชญ์ฝรั่งสองคน คืออังกฤษคนหนึ่งและเยอรมันคนหนึ่งมาแล้ว คนแรกนั้นเห็นว่านักการเมืองนั้นมีโลภะ คือความโลภอำนาจเป็นอกุศลมูล ส่วนคนหลังเห็นว่านักการเมืองมีโทสะ คือริษยาเป็นอกุศลมูล
ต่อไปขอให้อ่านทัศนะของอีกคนหนึ่ง ชื่อนายเบลีย์ (F.G.Bailey) ซึ่งเป็นทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจ
นายเบลีย์เห็นว่า มนุษย์เป็นนักการพนันทางการเมือง
ถ้าจะปรับเข้ากับอกุศลมูลดังที่ผมทำมาแล้ว นายเบลีย์ก็เห็นว่า ในทางการเมืองนั้น มนุษย์มี ‘โมหะ’เป็นอกุศลมูล
นายเบลีย์มองเห็นการเมืองเป็นการแข่งขันกีฬาอย่างหนึ่ง ซึ่งตามปกติก็แข่งขันกันตามกติกา ผู้ชนะก็จะได้รับรางวัลตามที่กำหนดกันไว้แน่นอนแล้ว และในขั้นหนึ่งนั้น โครงสร้างทางการเมืองก็คือกติกาชุดหนึ่ง เพื่อให้ผู้แข่งขันเล่นกีฬากันภายในขอบเขต โดยมีกติกาคือรางวัลอีกชุดหนึ่ง เอาไว้สำหรับเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะ
จะเปรียบให้เห็นง่ายๆก็เหมือนการเลือกตั้งที่แล้วมาในเมืองไทย และการตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเกษตรสังคม ซึ่งว่ากันตามกติกามาโดยตลอด ว่าใครชนะก็จะได้จัดตั้งรัฐบาลเป็นรางวัล ( ขออนุญาตเสริมความชัดเจนในการอ่านของคนรุ่นหลังว่า- หลังการเลือกตั้งดังกล่าว นั้นคือเมื่อต้นปี 2518 ที่สองพรรคการเมืองนี้ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากตามลำดับ จึงร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล เพื่อดำเนินการต่อตามขั้นตอนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าหลังจากตัดสินใจร่วมกันตั้งรัฐบาลได้แล้ว พรรคการเมืองที่รวมกันนั้นต้องไปขอรับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรต่อไป แต่ในขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้ สองพรรคนี้ได้แค่รวมกันตั้งรัฐบาล ยังไม่ถึงขั้นตอนของการเข้าไปขอรับความไว้วางใจจากสภาฯ)
ส่วนการปฏิรูปหรือการปฏิวัติแต่ละครั้งนั้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงในกติกาแห่ง ‘กีฬา’ทางการเมืองนี้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งในทัศนะของเบลีย์ กติกาการเมืองนี้มีอยู่สองชนิด ชนิดแรกเป็นชนิดที่บริสุทธิ์ยุติธรรมมีเหตุมีผล ที่ชาวบ้านรู้เห็นได้และเชื่อถือเลื่อมใสไว้วางใจได้ ชนิดที่สองเป็นกติกาชนิดที่ใช้กันอยู่ภายในระหว่างนักการเมือง ซึ่งมีเล่ห์มีเหลี่ยมมีชั้นเชิง ชนิดที่ถ้าชาวบ้านทั่วไปรู้เห็นเข้าก็อาจจะเสื่อมศรัทธา ส่วนนักการเมือง จะใช้กติกาทั้งสองแบบนี้ในสัดส่วนมากน้อยอย่างไร ก็ขื้นอยู่กับภูมิประเทศเหตุการณ์ และกาลเวลาที่ตนเห็นเหมาะสมเป็นเรื่องๆไป
ก็เหมือนกับกีฬาที่มีการพนันขันต่อหรือแข่งขันชิงรางวัลกันนั่นแหละครับ ใครชนะก็ได้ไป ซึ่งรางวัลอันเป็นอำนาจและตำแหน่งในทางการเมือง โดยมีกฎเกณฑ์บังคับอยู่ว่าใครจะได้รับรางวัลอย่างใด ในกรณีนี้กฎเกณฑ์ก็คือสิ่งที่ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญในสังคมที่มีการพัฒนาทางการเมืองอย่างดีแล้ว และใน ‘กีฬา’ทางการเมืองนี้ กรรมการผู้ตัดสินจะได้แก่พระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดี หรือประธานสภา หรือตุลาการรัฐธรรมนูญ หรือผู้พิพากษาสูงสุดอย่างไรแค่ไหน ก็สุดแต่จะว่ากันไป ซึ่งเบลีย์เห็นว่า โครงสร้างแห่งกีฬาแข่งขันนี้แตกต่างกันไปในสังคมต่างๆที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน
เรียกว่า ฝรั่งก็ชกมวยสากล ไทยก็ชกมวยไทย ญี่ปุ่นก็เล่นยูโด จีนก็เล่นกังฟู กันว่างั้นเถอะ
ในทางการเมืองนั้น เราจะได้ยินเรื่องอุดมการอุดมคติกันมาก จากปากของนักการเมือง จนใจคล้อยตามไปนึกว่า การเมืองนั้นมีหลักสำคัญอยู่ที่อุดมการอุดมคติ แต่นายเบลีย์กลับเอาความคิดที่อาจจะเป็นความจริงมาพูด ที่ทำให้ฟังแล้วสะดุ้งใจอยู่เหมือนกัน ว่า การเมืองนั้นที่แท้ก็เป็นวิสาหกิจอย่างหนึ่ง เหมือนกับการตั้งร้านขายของขายข้าวแกงหรืออะไรก็ตามที ที่ต้องมีทุนรอน มีกำลังคน มีศัพท์ใหม่ที่กระทรวงศึกษาเรียกว่า ‘ทักษะ’ คือทำอะไรเก่งทำอะไรคล่อง ( โปรดสังเกตว่า ศัพท์คำนี้เพิ่งจะเริ่มใช้ขึ้นในยุคนี้ )และมีความสามารถที่จะใช้ทั้งทุนและทักษะนั้นให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้มากที่สุด ซึ่งเบลีย์เขียนไว้ว่า “จะเป็นผู้นำทางการเมืองที่ได้รับความสำเร็จนั้น จะต้องหาทางเข้าถึงทุนทรัพย์ได้มากกว่าคู่ต่อสู้ และต้องใช้กำลังเงินนั้นได้เก่งกว่าคู่ต่อสู้” และในทางกลับกัน การที่จะทำลายคู่ต่อสู้นั้น ก็จะต้องทำลายกำลังเงินของคู่ต่อสู้ หรือตัดหนทางคู่ต่อสู้มิให้หากำลังเงินนั้นได้ ทักษะจึงอยู่ที่การหาเงิน และเมื่อได้เงินมาแล้วก็ต้องใช้เงินนั้นให้เป็นประโยชน์ ในการหาเสียงหาความนิยมทางการเมืองให้เกิดแก่ตนได้มากที่สุดด้วย
ผู้นำทางการเมืองนั้นใช้อำนาจด้วยผู้สนับสนุนสองจำพวก คือผู้ที่ใช้เงินจ้างพวกหนึ่ง และผู้ที่นิยมเลื่อมใสในตนอีกพวกหนึ่ง พวกที่เอาเงินจ้างนั้นต้องทั้งเลี้ยงทั้งจ่ายค่าจ้าง ส่วนผู้นิยมเลื่อมใสนั้นแม้ไม่ต้องจ่ายแต่ก็ต้องเลี้ยงด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และการสนับสนุนโดยใช้เงินซื้อนั้นเปลี่ยนแปลงได้ เพราะถ้าใครเอาเงินมาให้มากกว่าผู้สนับสนุนนั้นก็จะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นผู้นำทางการเมืองที่มีคนสนับสนุนด้วยเงินจ้างมากกว่าด้วยใจจริงนั้น จะต้องใช้การเมืองหาผลประโยชน์มาจ่ายกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
ในเมืองไทย เราก็ได้เห็นความจริงข้อนี้กันมามากต่อมากแล้วมิใช่หรือ?
อาจารย์คึกฤทธิ์เขียนความคิดเหล่านี้ไว้เมื่อต้นปี 2518 แล้วก็อยู่มาอีกยี่สิบปีก่อนที่จะตายไปเมื่อปี 2538 ซึ่งการเมืองไทยหลังจากนั้น เป็นอย่างไรคนรุ่นเก่าหลายคนคงรู้ดีอยู่ ส่วนจะต่างหรือไม่ต่างจากสิ่งที่พูดนี้แค่ไหน ผมอยากให้ท่านผู้อ่านได้ช่วยกันคิดและพยายามใช้ปัญญาพิจารณา
หลังความตายของอาจารย์คึกฤทธิ์ เราก็ ‘เล่น’ การเมืองบ้าง ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่าประชาธิปไตยบ้าง กันมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2549 ก็มีการปฏิวัติเกิดขึ้น ปฏิวัติแล้วเราก็เล่นประชาธิปไตยกันอีก อยู่ไม่ถึงสิบปี เราก็มีการปฏิวัติกันอีกครั้งหนึ่ง และก็ดิ้นขลุกขลักกันมาจนถึงขณะนี้คือปี 2560 ที่จะย่างเข้า 61 ที่คิดว่าเราจะเริ่มเล่นประชาธิปไตยกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเรา คือคนไทยส่วนใหญ่ จะเข้าใจการเมือง-เข้าใจความคิดทางการเมือง-และพิจารณานักการเมือง-หรือความเป็นนักการเมือง(ที่ครอบคลุมอยู่ทั้งนอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบ)กันอย่างจริงจังถ่องแท้แค่ไหน? นี่คือสิ่งที่น่าพิจารณา
ผมเจตนานำเรื่องเก่ามาเล่าให้พวกเราได้ฟังกันใหม่ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้เกิดความคิดเหล่านี้
ข้อเขียนชุดนี้ยังไม่จบ และหลังจากมองสามแนวคิดนี้แล้ว ทั้งคนมองและทั้งการเมืองไทย ยังมีอะไรที่น่าสนุกน่ารังเกียจน่าสยดสยองเกิดขึ้นอีกสารพัดสารพัน!
เรียนรู้ไว้ให้มากๆ เพื่ออาจจะใช้เป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง สำหรับการตัดสินใจในอนาคตก็ได้ครับ