ทวี สุรฤทธิกุล
พรรคใหญ่กำลังคิดวิธีฮุบพรรคเล็ก
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้คุยกับ “กูรู” การเมืองท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปีหน้า พรรคใหญ่จำเป็นจะต้องพึ่งพาพรรคเล็กเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการรวมตัวกันเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล โดยจะต้องสู้กับทหารที่อยู่ในฐานะได้เปรียบในทั้งสองเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตามพรรคใหญ่ทั้งสองพรรคก็มีปัญหาภายในพรรคมากมายเช่นกัน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ยังไม่มีหัวหน้าพรรคที่ชัดเจน โดยคาดเดากันว่าน่าจะเป็นคนที่อดีตนายกฯนักโทษชายหนีคดีจะเป็นผู้เลือก ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่ชี้ชัด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เองก็ดูยังมี “คลื่นใต้น้ำ” อยู่พอควร คือความแตกแยกกันเป็นก๊กๆ ที่เป็นธรรมชาติของพรรคเก่าแก่พรรคนี้ จึงมีผลต่อการวางยุทธศาสตร์ของพรรคในการเลือกตั้ง ทั้งนี้อาจจะเป็นเนื่องด้วยข้อจำกัด 2-3เรื่อง หนึ่งคือ ทหารยังไม่ปลดล็อคให้พรรคการเมืองประชุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเปิดเผย สองคือ อนาคตเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ยังไม่แน่นอน คนที่คิดจะเล่นการเมืองส่วนใหญ่จึงลังเล โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยให้ความสนใจ และสามคือ อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองเองที่ต้องการจะ “อุบไต๋” ไว้ก่อน จนกว่าจะถึงเวลาอันควร
หลายคนเชื่อว่าพรรคใหญ่มีความได้เปรียบในการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็คือการมีอดีต ส.ส.อยู่ในสังกัดแล้วจำนวนหนึ่ง ทั้งยังมี “เสน่ห์ดึงดูด” ที่สร้างความสนใจให้แก่อดีต ส.ส.ของพรรคขนาดรองๆ ที่กำลังจะหาพรรคใหม่เข้าสังกัด ขึ้นอยู่กับว่าพรรคใหญ่นั้นจะ “กล้า” ที่จะทุ่มเทให้กับบรรดา “เสือหิว” เหล่านั้นหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงนั้นพรรคขนาดรองๆ ก็ยังมีเสน่ห์อยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะการเข้าเป็นกำลังเสริมในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับการทำงานในรัฐสภาและรัฐบาล
กูรูท่านนี้บอกว่า แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560ทหารจะมีฐานกำลังหลักอยู่ในวุฒิสภา แต่ก็คงไม่ได้มีเสถียรภาพมั่นคงมากนัก โดยท่านได้พูดถึงวุฒิสภาในปี 2521 ที่ทหารตั้งทั้ง200 คน เอาเข้าจริงกลุ่มทหารเก่าก็ทะเลาะกับกลุ่มทหารใหม่ อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2523 นั้น ส่วนที่จะหวังเอา ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งก็คงจะได้กระปริบกระปรอย เพราะ ส.ส.ที่เคยสังกัดพรรคเดิมก็ยังเล่นตัวอยู่ ส่วนพรรคที่ตั้งขึ้นมาหนุนทหารก็ยังไม่มีหลักประกันว่าจะได้ ส.ส.อย่างเป็นกอบเป็นกำ คือเอาเข้าจริงๆ ทหารก็ยังมีปัญหาในฐานกำลังต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในสภาดังที่กล่าวมานี้ แต่จะต้องเจอปัญหาภายนอกที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทหารไม่อาจจะใช้กลไกในระบอบเผด็จการเข้าจัดการแก้ไขได้
นักการเมืองที่เขามีความโชกโชนในเวทีการเมือง เขายังมีความเชื่อมั่นว่าทหารไม่ได้มีความได้เปรียบทางการเมืองแต่อย่างใดเลย ซ้ำร้ายความพยายามของทหารที่จะควบคุมกลไกทางการเมืองทั้งนอกและในสภาอย่าง “แข็งกร้าว” นี้ อาจจะเป็น “บูมเมอแรง” ย้อนมาทำลายพลังอำนาจของทหารได้ในที่สุด หากมองด้วย “ตรรกะมุมกลับ” การที่ทหารต้องใช้กำลังบีบบังคับทุกภาคส่วนในสังคมให้ยอมสยบต่อทหาร ก็ยิ่งแสดงว่าทหารมีปัญหาในการยอมรับจากทุกภาคส่วนในสังคมนั้นด้วย และโดยที่ความเข้มแข็งของกองทัพมีภาวะ “ขึ้นลง” ตามภาวะการอยู่ในตำแหน่งของผู้นำ กำลังบีบบังคับจึงไม่มีหลักประกันว่าจะมีความเข้มแข็งด้วยดีเสมอไป โดยเฉพาะหากมี “ทหารประชาธิปไตย” เกิดขึ้นมาในกองทัพเหมือนในช่วง พ.ศ. 2521 นั้น
ดังนั้นจึงได้เกิดปรากฏการณ์ที่พรรคการเมือง “สมคบคิด” ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติของกองทัพ เช่นกรณีที่พรรคเพื่อไทยอาจจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอานายกฯคนนอก โดยเหตุผลที่ทหารพยายามกีดกันพรรคเพื่อไทยทุกวิถีทาง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นถ้ายังมีอุดมการณ์มั่นคงก็จะต้องไม่รับใช้เผด็จการ ทั้งสองพรรคจึงอาจจะสามารถจับมือกันได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันของความแข็งแกร่งในภาคนักการเมือง ก็อาจจะมีการ “ขยายความร่วมมือ” ออกไปหาพรรคการเมืองในขนาดรองๆ เข้ามาร่วมกระบวนการด้วย เพราะหลายๆ พรรคก็เริ่มมองเห็นชะตากรรมว่า หากยอมเป็นเบี้ยล่างทหารไปอย่างนี้ ต่อไปก็จะไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก และโดยเหตุที่ให้ทหารยังซ้ำเติมนักการเมืองอยู่อย่างนี้ ก็ยิ่งจะต้องลุกขึ้นสู้เพื่อเกียรติของตน
ยุทธวิธีที่อาจจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็คือ พรรคใหญ่ที่มีฐานเสียงค่อนข้างมั่นคงจะส่งผู้สมัครในระบบเขตเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.เขตมากที่สุด ซึ่งถ้าได้ ส.ส.เขตมากแล้วก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง ดังนั้นจึงจะต้องพึ่งพรรคในระดับรองที่ส่งผู้สมัครลงในเขตนั้นด้วย เพราะคะแนนจากบัตรไปเดียวนี้จะเอาไปรวมนับเพื่อแบ่งจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นหากผู้สมัครที่ได้คะแนนในระดับรองๆ แม้จได้เพียงไม่กี่พันเสียงในแต่ละเขต แต่เมื่อไปรวมนับทั้งประเทศก็อาจจะทำให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเข้ามาเป็นกอบเป็นกำได้
พรรคใหญ่มี ส.ส.ที่ได้มาจากเขตเลือกตั้งค่อนข้างแน่นอนนี้อาจะเรียกว่า “ยกยอ” คือปลาย่อมจะหาได้โดยง่ายอยู่แล้ว ส่วนการไปช่วยพรรคขนาดรองลงไปให้กระจายคะแนนมาเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนี้อาจจะเรียกว่า “เหวี่ยงแห” คืออาจจะคาดเดาจำนวนได้ยาก แต่กูรูท่านนี้บอกว่าไม่ยากหรอก ลองยื่นเหยื่อเป็นเชิงท้าทายว่า “ถ้าเขตนี้ได้คะแนนเข้าเป้า เอาไปเลยหนึ่งล้านบาท” รับรองว่ามีคนสนใจตรึม
มีพรรคไหน “ใจถึง” กล้าทุ่มไหมหนอ?