ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเริ่มมีสัญญาณดี แต่ยังเป็นขาขึ้นยังไม่สามารถกดลงมาให้ต่ำในหลักพันได้ การเมืองก็รุมเร้าทั้งในสภาฯและบนท้องถนน ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจ พิษจากล็อกดาวน์เกิดบาดแผลใหญ่ ล่าสุดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ดังนี้ 1. การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SME และรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SME โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่างๆ เช่น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่างๆ ของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และเห็นควรให้ขยายวงเงินสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำหรือไม่เคยมีวงเงินมาก่อน ที่เดิมอาจไม่ต้องพึ่งพา สินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางได้มากขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว โดย 1.ขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท 2.คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่เคยผ่อนคลายไว้ก่อนหน้า และ 3. ขยายเพดานวงเงินและระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ทั้งนี้ การผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบและลดความจำเป็นของลูกหนี้ที่อาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบในระยะต่อไป ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธปท. จึงส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว ที่ประชุมการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวถึงมาตรการเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษนั้น ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสมรวม 38.25 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม รวม 66,150.3 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 23.68 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 59,183.6 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 30,049.5 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 29,134.1 ล้านบาท 2) โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 68,157 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 1,352 ล้านบาท และยอดใช้จ่ายด้วย e-voucher สะสม 38 ล้านบาท 3) โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.49 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 5,234.5 ล้านบาท ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะมีมาตรการเยียวยาและแผนฟื้นฟูออกมารองรับ แต่ที่หลายฝ่ายกังวลคือ หากมีการขยยายระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไปอีก จะส่งผลกระทบที่รุนแรงยิ่งขึ้น มาตรการต่างๆ อาจไม่เพียงพอและช่วยต่อลมหายใจได้ทันการณ์